บทคัดย่องานวิจัย

การปรับปรุงการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวช่อดอกปทุมมา (Curcuma alismatifolia Gagnep.) พันธุ์เชียงใหม่สีชมพูเพื่อส่งออก

เอกพล ภูวนารถนฤบาล และชณิฏฐ์ศิริ สุยสุวรรณ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 3(พิเศษ). หน้า 303-306. 2552.

2552

บทคัดย่อ

การปรับปรุงการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวช่อดอกปทุมมา (Curcuma alismatifolia Gagnep.) พันธุ์เชียงใหม่สีชมพูเพื่อส่งออก

                จากปัญหาการสูญเสียน้ำได้ง่ายส่งผลให้เหี่ยวเร็วของช่อดอกปทุมมา (Curcuma alismatifolia Gagnep.) พันธุ์เชียงใหม่สีชมพูเพื่อการส่งออก จึงได้ทดลองศึกษาเพื่อลดปัญหาดังกล่าว โดยแบ่งการทดองเป็น 4 การทดลอง คือ การทดลองที่ 1 การทดลองเพื่อหาปริมาณน้ำที่เหมาะสมสำหรับให้ก้านช่อดอกปทุมมาดูดใช้อย่างเพียงพอในช่วงเวลาของการขนส่งและการตลาด การทดลองที่ 2 การทดลองห่อช่อดอกด้วยวัสดุต่างๆ เพื่อป้องกันการซ้ำของช่อดอก การทดลองที่ 3 การทดลองห่อช่อดอกด้วยวัสดุต่างๆ เหมือนการทดลองที่ 2 แต่พัฒนาวิธีการบรรจุหีบห่อโดยมีกระดาษลูกฟูกเซาะร่องไว้รองรับก้านช่อดอก การทดลองที่ 4 การทดลองนำวิธีการที่ดีที่สุดของการทดลองที่ 1, 2 และ 3 มาเปรียบเทียบกับวิธีการควบคุม (วิธีการของผู้ส่งออก) มี 4 วิธีการ คือ วิธีการที่ 1 (วิธีการควบคุม) วิธีการที่ 2 คือ หุ้มปลายก้านดอกด้วยสำลีที่อิ่มตัวด้วยน้ำกรอง 25 มิลลิลิตร วิธีการที่ 3 เหมือนกับวิธีการที่ 2 แต่ห่อช่อดอกด้วยบรรจุภัณฑ์แอคทีฟ วิธีการที่ 4เหมือนกับวิธีการที่ 2 แต่ห่อช่อดอกด้วยถุงพลาสติก PP ปากเปิด และรองก้านช่อดอกด้วยกระดาษเซาะร่อง ผลปรากฏว่าทุกวิธีการมีอายุการปักแจกันดีกว่าวิธีการควบคุม โดยวิธีการที่ 4 มีคุณภาพดีที่สุด ส่งผลให้มีอายุการปักแจกันดีที่สุดเฉลี่ย 9.83 วัน แตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญกับวิธีการควบคุมที่มีอายุการปักแจกันเฉลี่ย 2.67วัน