บทคัดย่องานวิจัย

การใช้เทคนิคสเปกโทรสโคปีย่านคลื่นใกล้อินฟราเรด (NearInfrared spectroscopy, NIR) ในการติดตามคุณภาพของมะม่วงสำหรับการผลิตมะม่วงตัดแต่งพร้อมบริโภค

ภาริกา รุ่งพิชยพิเชษฐ์ และบุศรากรณ์ มหาโยธี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 3(พิเศษ). หน้า 343-346. 2552.

2552

บทคัดย่อ

การใช้เทคนิคสเปกโทรสโคปีย่านคลื่นใกล้อินฟราเรด (NearInfrared spectroscopy, NIR) ในการติดตามคุณภาพของมะม่วงสำหรับการผลิตมะม่วงตัดแต่งพร้อมบริโภค

                การศึกษาการติดตามและควบคุมคุณภาพด้านรสชาติของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองด้วยเทคนิค สเปกโทรสโคปีย่านคลื่นใกล้อินฟราเรด ทำโดยนำมะม่วงดิบแก่พันธุ์น้ำดอกไม้สีทองที่ผ่านการล้าง อบไอน้ำและผึ่งแห้งไปบ่มที่อุณหภูมิห้อง (26±2 OC และความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 62±9) เป็นเวลา 7วัน ในวันที่ 0, 1, 2 จนถึงวันที่ 7ของการบ่ม มะม่วงจำนวน 12ผลต่อวัน จะถูกนำมาวัดด้วยสเปกตรัมด้วยเครื่อง NIR แบบพกพาที่ช่วงความยาวคลื่น 700-1,100 นาโนเมตร ทำการวัดที่ตำแหน่งบริเวณกึ่งกลางผลทั้งสองด้าน จากนั้นนำมะม่วงบริเวณที่ผ่านการวัดสเปกตรัมไปวิเคราะห์ค่าความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด (TSS) ปริมาณกรดทั้งหมด (TA) และคำนวณค่าอัตราส่วนความหวานเปรี้ยว (TSS/TA) ผลการทดลองพบว่าการปรับแต่งข้อมูลสเปกตรัมด้วยเทคนิค Savitzky-Golay smoothing ร่วมกับการสร้างความสัมพันธ์ด้วยเทคนิค Partial least squares regression (PLS) จะให้สมการที่ดีในการทำนายค่า TSS (R=0.88, SEC=1.48 and SEP=1.26) และ TA (R=0.92, SEC=0.41 and SEP=0.49) แสดงถึงความสัมพันธ์ในระดับสูงระหว่าง NIR กับค่า TSS และTA ที่เป็นดัชนีทำนายคุณภาพขณะสุกของมะม่วงได้ ซึ่งบ่งชี้ความสามารถในการใช้เทคนิค NIR ในการตรวจติดตามคุณภาพของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สิทองเพื่อใช้ในการผลิตมะม่วงตัดแต่งพร้อมบริโภค