บทคัดย่องานวิจัย

การบรรจุหน่อไม้ฝรั่งในสภาพบรรยากาศดัดแปลงแบบสมดุลโดยบรรจุภัณฑ์ที่มีค่าการผ่านของก๊าซสูงพิเศษ

นพดล เกิดดอนแฝก, ปิติรัตน์ กลิ่นธรรม, ชาริณี วิโนทพรรษ์ และวรรณี ฉินศิริกุล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 3(พิเศษ). หน้า 359-362. 2552.

2552

บทคัดย่อ

การบรรจุหน่อไม้ฝรั่งในสภาพบรรยากาศดัดแปลงแบบสมดุลโดยบรรจุภัณฑ์ที่มีค่าการผ่านของก๊าซสูงพิเศษ

                ผลการศึกษาการเก็บรักษาหน่อไม้ฝรั่งจำนวน 200กรัม ในสภาพบรรยากาศดัดแปลงแบบสมดุลของหน่อไม้ฝรั่งน้ำหนัก 200กรัมในฟิล์มบรรจุภัณฑ์ (ขนาด 7x8 นิ้ว) จำนวน 4 ชนิด ซึ่งประกอบไปด้วย บรรจุภัณฑ์พอลิเอทิลีนสูตร 1 (PE1) ถุงพอลิเอทีลีนสูตร 2 (PE2) ถุงเชิงประกอบโพลิโพรพิลีน-1 (PP-B1) และถุงเชิงประกอบโพลิโพรพิลีน-2 (PP-B2) ซึ่งเป็นถุงพอลิโพรพิลีนที่ปิดผนึกร่วมกันระหว่าง BOPP ทั่วไปและอีกด้านหนึ่งกับฟิล์มซึ่งยอมให้ก๊าซแพร่ผ่านสูงมากพิเศษ ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) บรรจุภัณฑ์มีค่าแต่ละชนิดส่งผ่านก๊าซออกซิเจน เท่ากับ 4,500, 15,000, 75,000 และ 250,000 cc/m2.day ตามลำดับ และเมื่อเก็บรักษาหน่อไม้ฝรั่งไว้ที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส พบว่า การใช้ถุงฟิล์มบรรจุภัณฑ์ต่างชนิดกัน สามารถสร้างให้เกิดสภาพบรรยากาศดัดแปลงแบบสมดุลไม่แตกต่างกัน โดยความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซออกซิเจน (O2) ภายในบรรจุภัณฑ์ PE1, PE2, PP1, PP-B1 และ PP-B2 มีค่าเท่ากับ 5.8%CO2+1.6%O2, 3.8%CO2+5.4%O2, 2.3%CO2+16%O2 และ 1.3%CO2+17%O2 ตามลำดับ ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ PP-B1และPP-B2 ก่อ ให้เกิดสภาพดัดแปลงบรรยากาศที่มีปริมาณก๊าซออกซิเจนสูง สอดคล้องกับข้อมูลสภาพบรรยากาศควบคุมที่เหมาสมต่อการเก็บรักษาหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งต้องการปริมาณออกซิเจนสูงตามผลงานวิจัยที่ได้รายงานมาก่อนหน้านี้ และคุณภาพของหน่อไม้ฝรั่งในบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวยังคงความสด และมีลักษณะปรากฏเป็นที่ยอมรับตลอดระยะเวลาที่เก็บรักษา 16 วัน