ผลของอุณหภูมิ สาร Diphenylamine และสารเคลือบผิว Sta-fresh 7055 ต่ออาการสะท้านหนาวในพริกหวาน
วรางคณา ทองพระพักตร์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี.159หน้า. 2547.
2547
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของอุณหภูมิ การใช้สาร diphenylamine และสารเคลือบ Star-fresh 7055 ต่อการเกิดอาการสะท้านหนาวในพริกหวาน โดยแบ่งเป็น 3 การทดลองคือ การทดลองที่ 1 ศึกษาผลของอุณหภูมิ 1 4 7 และ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 85 ต่อการเกิดอาการสะท้านหนาวในพริกหวาน พบว่าการเก็บรักษาพริกหวานที่อุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการสะท้านหนาวมากกว่าที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ในขณะที่การเก็บรักษาพริกหวานที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ไม่ปรากฏอาการสะท้านหนาวและการเก็บรักษาพริกหวานที่อุณหภูมิ 7 องศาเซลเซียส มีคะแนนการยอมรับของผู้บริโภคมากที่สุด การทดลองที่ 2 ศึกษา ผลของการใช้สาร diphenylamineที่ระดับความเข้มข้น 8 12 และ 16 mM ร่วมกับอุณหภูมิที่ 7 และ 13 องศาเซลเซียส ต่อการลดอาการสะท้านหนาวในพริกหวานพบว่าการใช้สาร diphenylamine ที่ระดับความเข้มข้น 12 mMร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 7 องศาเซลเซียส หรือที่ 13 องศาเซลเซียสสามารถลดการเกิดอาการสะท้านหนาว อัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน การสูญเสียน้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงปริมาณวิตามินซี การเกิด lipid oxidation และมีคะแนนการยอมรับของผู้บริโภคสูงกว่าชุดการทดลองอื่นๆ การทดลองที่ 3 ศึกษาผลของสารเคลือบผิวที่รับประทานได้ โดยใช้สาร Star-fresh 7055 ความเข้มข้นร้อยละ 5 10 และ 15 ต่อการลดอาการสะท้านหนาวในพริกหวานระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 7 และ 13 องศาเซลเซียส พบว่าการใช้สารเคลือบผิวความเข้มข้นร้อยละ 10 สามารถลดการเกิด ปริมาณ lipid oxidation การรั่วไหลของประจุ การเกิดอาการสะท้านหนาว อัตราการหายใจและค่าแรงเฉือน นอกจากนี้ยังมีการยอมรับของผู้บริโภคในด้านความกรอบและการยอมรับโดยรวมมากกว่าการเคลือบผิวที่ระดับความเข้มข้นอื่นๆ