การเปรียบเทียบภาชนะบรรจุเพื่อการขนส่งมะม่วง
ดวงพร ดีผดุง
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการบรรจุ) คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.104หน้า.2548.
2548
บทคัดย่อ
มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เป็นพันธุ์ที่นิยมรับประทานสุกและมีเปลือกบาง ระหว่างการขนส่งจึงเกิดความบอบช้ำได้ง่ายจากแรงกระทำเชิงกล ซึ่งความช้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการยอมรับคุณภาพของมะม่วง การเปรียบเทียบภาชนะบรรจุเพื่อการขนส่งมะม่วง ได้แก่ (1) ตะกร้าพลาสติกที่ใช้เพื่อขนส่งมะม่วงในประเทศไทย (RPC-TH) (2) ตะกร้าพลาสติกที่ใช้ขนส่งผลไม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาแบบ A (RPC-US-A) (3) ตะกร้าพลาสติกที่ใช้ขนส่งผลไม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาแบบ B (RPC-US-B) (4) กล่องกระดาษลูกฟูกที่พัฒนาขึ้นใหม่โดยบรรจุมะม่วงเพียงชั้นเดียวและมีแถบกั้นระหว่างแถว (CFB) วัสดุกันกระแทก 2 ชนิด ได้แก่ (1) ตาข่ายโฟม (2) กระดาษลูกฟูกแถบเดียว หลังจากทดสอบการขนส่งจริงและการสั่นสะเทือนพบว่าภาชนะบรรจุและวัสดุกันกระแทกมีผลต่อการสูญเสียมะม่วงจากความช้ำอย่างมีนัยสำคัญ (p £ 0.05) หลังจากทดสอบการสั่นสะเทือนพบว่าระดับความช้ำและปริมาตรความช้ำมีความรุนแรงมากกว่าการขนส่งจริง เปอร์เซ็นต์ระดับความช้ำหลังจากการทดสอบสามารถใช้ประเมินเปอร์เซ็นต์การปฏิเสธมะม่วงในตลาดระดับต่าง ๆ ได้ และมีความสอดคล้องกับปริมาตรความช้ำและการสูญเสียน้ำหนัก มะม่วงที่บรรจุใน RPC-TH มีเปอร์เซ็นต์ระดับความช้ำรวมสูงที่สุดและมีปริมาตรความช้ำมากที่สุด การวางเรียงซ้อนมะม่วงเพียงชั้นเดียวสามารถลดการสูญเสียมะม่วงจากความช้ำได้ กระดาษลูกฟูกที่พัฒนาขึ้นใหม่ (CFB) มีประสิทธิภาพในการปกป้องมะม่วงจากแรงกระทำเชิงกลได้ดีที่สุด และกระดาษลูกฟูกแถบเดียวสามารถปกป้องมะม่วงได้ดีกว่าตาข่ายโฟม ผลจากการวิจัยครั้งนี้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้กับการเลือกระบบการบรรจุที่เหมาะสมต่อการขนส่งมะม่วงและผลไม้ชนิดอื่นได้