การออกแบบและทดสอบเครื่องทำความสะอาดผลสะละ
เสกสรร สีหวงษ์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.92 หน้า.2548.
2548
บทคัดย่อ
ทำการศึกษาสมบัติทางกายภาพของผลและกระปุกสะละ 3 พันธุ์ คือ เนินวง สุมาลี และหม้อ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบพัฒนาเครื่องทำความสะอาดผลสะละ พบว่าคุณสมบัติทางกายภาพของผลสะละที่น่าจะมีผลต่อการออกแบบเครื่องก็คือ ความยาวหนาม พื้นที่เปลือก และความเค้นขั้วผล สำหรับลักษณะสำคัญของกระปุกที่น่าจะมีผลต่อการออกแบบเครื่อง คือ ความยาว น้ำหนัก และปริมาตรของกระปุก และจำนวนผลต่อกระปุก อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาความนิยมของผู้บริโภคและปริมาณของสะละแต่ละพันธุ์ที่มีวางจำหน่าย พบว่าพันธุ์เนินวงน่าจะเป็นตัวแทนที่ดีสำหรับใช้ในการทดสอบการทำงานของเครื่อง
ทำการออกแบบเครื่องทำความสะอาดผลสะละต้นแบบมีขนาด (กว้างxยาวxสูง) 150x280x130 เซนติเมตร ประกอบด้วย ก) ระบบโซ่ลำเลียงเป็นโซ่ลำเลียงชนิด Double pitch chain No. 60 ยาว 600 เซนติเมตร ทุก ๆ ระยะ 30 เซนติเมตร ติดตั้งข้อต่อโซ่แบบปีก A-2 เพื่อใช้ติดตั้งอุปกรณ์จับยึดก้านต่อกระปุกสะละ ข) ชุดแปลงปัดกำจัดหนาม มีจำนวน 2 ชุด ติดตั้งขนานกับทิศทางการเคลื่อนที่ของกระปุกสะละ โดยมีทิศทางการหมุนของแปลงปัดตรงข้ามกัน ค) มอเตอร์ไฟฟ้าต้นกำลัง 380 และ 220 โวล์ท ขนาด 1 และ ½ แรงม้าสำหรับชุดลำเลียงและชุดแปลงปัด ตามลำดับ ในการทดสอบใช้ผู้ปฏิบัติงาน 2 คน ทำการทดสอบที่ความเร็วโซ่ลำเลียง 3 ระดับ คือ 3.56, 6.06 และ 8.49 เมตรต่อนาที โดยทดสอบกับความเร็วรอบแปลงปัด 5 ระดับ คือ 360, 417, 481, 565 และ 715 รอบต่อนาที ผลปรากฏว่าที่ความเร็วโซ่ลำเลียง 8.49 เมตรต่อนาที และที่ความเร็วรอบแปลงปัด 360 รอบต่อนาที มีอัตราการทำงาน 368.30 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการกำจัดหนามและความสูญเสียในการทำงาน 65.50 และ 1.70 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับจากการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม ค่าใช้จ่ายในการทำงาน 0.14 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อทำงานปีละ 90 วัน จะมีเวลาคืนทุนที่ 5.5 เดือน และมีจุดคุ้มทุนที่ 13,662.79 กิโลกรัมต่อปี