บทคัดย่องานวิจัย

ฟิล์มบริโภคได้จากเนื้อมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ เพื่อใช้เคลือบผิวผลมะม่วงสดเพื่อตลาดส่งออก และมะม่วงตัดแต่งที่เก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มีการดัดแปรบรรยากาศ

ภัทราทิพย์ รอดสำราญ

วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต(วิศวกรรมการอาหาร)คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 117 หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

ฟิล์มบริโภคได้จากเนื้อมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ เพื่อใช้เคลือบผิวผลมะม่วงสดเพื่อตลาดส่งออก และมะม่วงตัดแต่งที่เก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มีการดัดแปรบรรยากาศ

ฟิล์มมะม่วงเตรียมจากน้ำมะม่วง เป็นแผ่นฟิล์มที่มีสีเหลืองและกลิ่นเฉพาะของมะม่วง ฟิล์มมีความชื้น 7.96%สมบัติด้านการต้านแรงดึง 1.16 MPa ค่าการยืดตัว 18.52% ค่าการแพร่ผ่านของก๊าซออกซิเจน 41.21 cm3.µm/m2.day.kPa และค่าการแพร่ผ่านของไอน้ำ 213.24 g.mm/m2.day.kPa

เมื่อนำฟิล์มมะม่วงมาเคลือบผิวผลมะม่วงสด พบว่าเมื่อเก็บที่อุณหภูมิห้อง (30 °C) ไม่สามารถช่วยรักษาคุณภาพที่ดีของผลมะม่วงได้เนื่องจากฟิล์มเกิดการละลายและเน่าเสีย แต่เมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 10 °Cสามารถลดปัญหาดังกล่าวและใช้ได้นาน 11 วัน จึงเกิดเชื้อราขึ้นบน แผ่นฟิล์ม รวมทั้งลดการสูญเสียน้ำหนักและชะลอการสุกได้ และเมื่อนำมาใช้เคลือบผิวชิ้นมะม่วงจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาและรักษาลักษณะปรากฏทางประสาทสัมผัสที่ยอมรับได้ ได้นานกว่าการไม่เคลือบผิวเมื่อเก็บที่อุณหภูมิห้อง ในขณะที่การเก็บที่อุณหภูมิ 5 °Cให้ผลที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนสภาวะการเก็บที่อุณหภูมิ 5 °Cชิ้นมะม่วงไม่เคลือบผิวร่วมกับการดัดแปรบรรยากาศ หรือชิ้นมะม่วงที่เคลือบผิวโดยไม่คำนึงถึงการดัดแปรบรรยากาศ สามารถยืดอายุการเก็บรักษาและให้ลักษณะปรากฏของชิ้นมะม่วงดีที่สุด เมื่อระยะเวลาการเก็บรักษานานขึ้น ความแน่นเนื้อของชิ้นมะม่วงและปริมาณก๊าซออกซิเจนจะลดลง ในขณะที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้น ในทุกสภาวะการเก็บ และการเก็บที่อุณหภูมิต่ำ สามารถลดการเกิดกลิ่นเอทานอลในบรรจุภัณฑ์ได้