การพัฒนาดัชนีชี้วัดสมรรถนะกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสีข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกในจังหวัดร้อยเอ็ด
วรการ บัวนวล
บริหารธุรกิจมหาบัณฑิตวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น. 180 หน้า.2548.
2548
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาการดำเนินงานตามกระบวนการโลจิสติกส์ (Logistics)ของโรงสีข้าว เพื่อการส่งออก ในธุรกิจการค้าข้าวหอมมะลิ (2) ศึกษาปัญหาการดำเนินงานใน 4กิจกรรมหลักได้แก่ การจัดซื้อ (Purchasing) การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management) การขนส่งและจัดส่งสินค้า (Transportation and delivery) การติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล (Communication and Data Exchange) ของกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสี (3) พัฒนาดัชนีชี้วัด (KPIs) ที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ประเมินการทำงานตามกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสี โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นโรงสีข้าวหอมมะลิขนาดกลางและใหญ่ ในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Selection)โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มที่ 1 เป็นโรงสีข้าวหอมมะลิขนาดกลางหรือใหญ่ ที่มีการจัดการเป็นระบบ จำนวน 2 โรงในจังหวัดร้อยเอ็ด ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยแบบสัมภาษณ์ กลุ่มที่ 2 เป็นโรงสีหอมมะลิขนาดกลางหรือใหญ่ ที่มีการจัดการเป็นระบบและไม่เป็นระบบ จำนวน 10 โรง และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรงสี จำนวน 10 คน ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยแบบสอบถาม (Likert Scale) สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS version 11.5การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์แบบพรรณนา (Descriptive Analysis)
ผลของการวิจัย แสดงให้เห็นสภาพปัจจุบันในการดำเนินงานตามกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสีข้าวเพื่อการส่งออก ในจังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนั้นทำให้ทราบปัญหาการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก และผลการวิจัยสามารถพัฒนาดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมได้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มดัชนี กลุ่มแรก ดัชนีชี้วัดจากการสอบถามระดับความต้องการนำดัชนีชี้วัดการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมไปใช้ ของผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญโรงสีข้าว โดยได้ดัชนีชี้วัดแบ่งตามกิจกรรมดังนี้ การจัดซื้อ 9 ดัชนี การจัดการคลังสินค้า 12 ดัชนี การขนส่งและจัดส่งสินค้า 5 ดัชนี การติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล 6 ดัชนี และกลุ่มที่สอง ดัชนีชี้วัดจากการแปลงปัญหา โดยได้ดัชนีชี้วัดแบ่งตามกิจกรรมดังนี้ การจัดซื้อ 6 ดัชนี การจัดการคลังสินค้า 12 ดัชนี การขนส่งและจัดส่งสินค้า 4 ดัชนี การติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล 4 ดัชนี ผลการศึกษาทำให้ได้ดัชนีชี้วัดจากการสังเคราะห์ทั้ง 2 กลุ่มดัชนี รวมทั้งสิ้น 40 ดัชนี เมื่อนำดัชนีชี้วัดไปสอบถามผู้ใช้งานจริง ได้ข้อมูลดัชนีชี้วัด ร้อยละ 71.43 เมื่อเปรียบเทียบดัชนีที่ได้จากธุรกิจโรงสีข้าว และอุตสาหกรรมอื่น พบว่ามีลักษณะดัชนีชี้วัดและจำนวนดัชนีชี้วัดที่แตกต่างกัน ตามประเภทอุตสาหกรรม และกระบวนการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้น อย่างไรก็ตามมีดัชนีชี้วัดหลักในดำเนินการกระบวนการโลจิสติกส์ที่คล้ายกัน