การศึกษาระบบการจัดการแบบกงสี: กรณีศึกษาธุรกิจโรงสี
กฤษณะ แซ่ตั้ง
บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 109หน้า. 2548.
2548
บทคัดย่อ
การศึกษาระบบการจัดการแบบกงสี:กรณีศึกษาธุรกิจโรงสี มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมทั่วไปในการบริหารจัดการแบบกงสี 2) เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของการบริหารจัดการแบบกงสี 3) เพื่อศึกษาถึงปัญหาการบริหารจัดการแบบกงสี 4) เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงระบบการบริหารจัดการแบบกงสี โดยใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้แบบ สัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างเก็บข้อมูลจากเจ้าของกิจการธุรกิจประเภทโรงสีขนาด ใหญ่จำนวน 20 โรงสี ที่มีระบบการบริหารจัดการแบบกงสีและไม่ใช่กงสีโดยมีการดำเนินธุรกิจอยู่ใน จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดขอนแก่นอย่างน้อย จังหวัดละ 1 โรง
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า
1) ลักษณะการบริหารจัดการแบบกงสีสามารถจำแนกออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ร้อยละ 57.14 เป็นการบริหารจัดการแบบช่วยกันทำหน้าที่ภายใต้ธุรกิจเดียวกัน ร้อยละ 14.29 เป็นการบริหารจัดการแบบธุรกิจประเภทเดียวกันแต่แบ่งเป็นธุรกิจย่อยและร้อยละ 28.57 เป็นการบริหารจัดการแบบสมาชิกในกงสีทำธุรกิจแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน
2) การบริหารจัดการแบบกงสีทั้งทางด้านการผลิต การตลาด นั้น ไม่มีผลกระทบหรือไม่พบปัญหาจากการบริหารจัดการแบบกงสี แต่ในส่วนทางด้านการเงินและการจัดการ พบว่า ด้านการเงินมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของผลประโยชน์หรือผลตอบแทน ในด้านการจัดการ พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวของผู้นำ การแบ่งอำนาจหน้าที่ไม่ลงตัว การจำกัดสิทธิทางเพศ
3) แนวทางการแก้ไขปัญหาควรมีการจัดระบบที่ปรึกษาเป็นคณะกรรมการกลางเพื่อดูแล การบริหารจัดการกงสีให้อยู่ในระบบการบริหารจัดการโดยมีการวางแผน การจัดองค์กร การนำ การควบคุมไปจนถึงการตรวจสอบ อีกทั้งควรนำวงจรคุณภาพ PDCAเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการบริหาร จนสามารถจัดทำเป็นมาตรฐานของแต่ละกงสีได้