การคัดเลือกสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการควบคุมเชื้อรา Penicillium expansumของผลแอปเปิ้ล
ณัฐมน สมศักดิ์
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.101 หน้า.2548.
2548
บทคัดย่อ
การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชสมุนไพร 16 ชนิดที่สกัดด้วยตัวทำละลาย 2 ชนิดคือ dimethyl ether และ dichloromethane เพื่อยับยั้งการเข้าทำลายของเชื้อรา Penicillium expansumเป็นสาเหตุโรคผลเน่าของแอปเปิ้ลภายหลังการเก็บเกี่ยว โดยวิธีการสัมผัสกับสารละลายโดยตรงหรือสัมผัสไอละเหยของสารสกัด พบว่าการสกัดด้วยตัวทำละลาย dichloromethaneมีประสิทธิภาพดีกว่าการสกัดด้วย dimethyl etherเนื่องจากสารสกัดจากพืชส่วนใหญ่ที่สกัดด้วย dichloromethaneสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ดีกว่าการสกัดด้วย dimethyl ether จากการทดสอบด้วยวิธีสัมผัสกับสารละลายของสารสกัดจากพืช พบว่าสารสกัดจากแทมโปโป (Taraxacum popo)แปะก๊วย (Ginkgo biloba L.) ลาเวนเดอร์ (Lavendula angustifolia) ไทม์ (Thymus citriodorus) และกระเทียม (Allium sativum)ที่สกัดด้วย dichloromethaneสามารถยัยยั้งการเจริญของเส้นใยได้ 12.45 มิลลิเมตร ส่วนการสกัดด้วย dimethyl etherมีเพียงสารสกัดจากกระเทียมเท่านั้นที่สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้เท่ากับ 35 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตามวิธีสัมผัสกับไอละเหยของสารสกัดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ดีกว่าวิธีสัมผัสกับสารละลายของสารสกัด โดยไม่พบการเจริญของเส้นใยเชื้อราที่สัมผัสกับไอละเหยของสารสกัดจากกระเทียมบนอาหารเลี้ยงเชื้อ แสดงว่าสารสกัดจากกระเทียมมีประสิทธิภาพในการเป็นสารกำจัดเชื้อราด้วย ดังนั้นสารสกัดจากกระเทียมจึงถูกนำมาวิเคราะห์หาสารองค์ประกอบโดยการแยกด้วย HPLC พบว่าสารในส่วนที่แยกได้ในช่วง 3 นาที 21 วินาทีถึง 6 นาที มีความเข้มข้นของ allicin เท่ากับ 12.43-292.71 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา P. expansumได้ เมื่อนำสารในแต่ละส่วนมาวิเคราะห์ด้วย GC-MS พบว่าสารที่แยกได้เป็นสารประกอบในกลุ่มซัลเฟอร์ แอลกอฮอล์ และอัลดีไฮด์บางชนิดที่มีบทบาทในการยับยั้งเชื้อราได้แก่ 3,4- dimethyl-thiophene, diallyl disulfide, methyl-2-propenyl trisulfide,3-vinyl-4H-1,2-dithiin, 4-ethylthiane, allyl alcohol และ 2-methyl butanal และพบว่า diallyl disulfide ที่มีความข้มข้นมากกว่า 83.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้
การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากกระเทียมในการควบคุมโรคผลเน่าแอปเปิ้ลพันธุ์ฟูจิที่ปลูกเชื้อรา P. expansumความเข้มข้น 105-106 สปอร์/มิลลิลิตร พบว่าไอละเหยและสารละลายกระเทียมสกัด สามารถยับยั้งการเกิดโรคได้ดีกว่าสารสกัดเชื้อราแคปแทน 1,000 ppm การรมด้วยไอละเหยของสารสกัดจากกระเทียมปริมาตร 1 มิลลิลิตรของสารสกัด/ปริมาตรภาชนะ 1 ลิตร นาน 72 ชั่วโมง ให้ผลยับยั้งการเกิดโรคได้ดีที่สุดและไม่เกิดผลกระทบต่อคุณภาพลักษณะปรากฏ สรีรวิทยาและชีวเคมีของแอปเปิ้ล ได้แก่ การสูญเสียน้ำหนักสด สีของผลไม้ ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ pH และอัตราการผลิตเอทธิลีน เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม และชุดที่รมด้วยไอละเหยของเอทานอล