บทคัดย่องานวิจัย

การผลิตฟิล์มที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากโปรตีนถั่วเหลือง

ธนวรรณ วังใน

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.114หน้า. 2548.

2548

บทคัดย่อ

การผลิตฟิล์มที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากโปรตีนถั่วเหลือง

การศึกษาคุณสมบัติของฟิล์มที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากโปรตีนถั่วเหลือง  ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของฟิล์มจากโปรตีนถั่วเหลืองที่ผสมกับแคลเซียมคาร์บอเนตและโพลีแซคคาไรด์ชนิดต่างๆ  ได้แก่ แป้งมันสำมันหลัง  ผงวุ้น และเซลลูโลส โดยใช้อุณหภูมิในการเตรียมสารละลายที่แตกต่างกันคือ 70 85 และ 100 องศาเซลเซียส  พบว่า อุณหภูมิที่ 85 องศาเซลเซียสเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการเกิดเจและการสร้างพันธะของสารละลายฟิล์มโปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งแสดงคุณสมบัติของฟิล์มดีที่สุด โดยฟิล์มที่ได้มีคุณสมบัติในการต้านทานแรงดึงขาดและต้านทานการซึมผ่านของไอน้ำดีกว่าสารละลายฟิล์มที่ใช้อุณหภูมิ 70 และ 100 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในการเตรียมสารละลายฟิล์มที่ 85 องศาเซลเซียส จึงนำมาใช้ในการทดลองต่อไป สำหรับการศึกษาคุณสมบัติของฟิล์มโปรตีนถั่วเหลือง  เมื่อเติมแป้งมันสำปะหลัง แคลเซียมคาร์บอเนตและผงวุ้นที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ โดยใช้อุณหภูมิในการเตรียมสารละลายที่ 85 องศาเซลเซียส พบว่า การเติมแป้งมันสำปะหลังความเข้มข้นร้อยละ 1 2 3 และ 4 และผงวุ้นความเข้มข้นร้อยละ 0.25 0.5 0.75 และ 1 ในส่วนผสมของโปรตีนฟิล์ม ช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการต้านทานแรงดึงขาด การต้านทานการซึมผ่านของไอน้ำและการต้านทานการละลายน้ำ แต่ไม่สามารถปรับปรุงคุณสมบัติในการยืดตัวของฟิล์ม ในขณะที่การเติมแคลเซียมคาร์บอเนตความเข้มข้นร้อยละ 1 2 และ 3 ช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการยืดตัวและการต้านทานการละลายน้ำ และปรับปรุงการต้านทานการซึมผ่านของไอน้ำเมื่อใช้ที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 1 เท่านั้น แต่ไม่สามารถปรับปรุงการต้านทานแรงดึงขาด ฟิล์มจากโปรตีนที่เติมแป้งมันสำปะหลังความเข้มข้นร้อยละ 1 หรือ 4 ร่วมกับแคลเซียมคาร์บอเนตความเข้มข้นร้อยละ 0.5 หรือ 1 ผงวุ้นความเข้มข้นร้อยละ 0.25 หรือ 1 ช่วยเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ ของฟิล์มได้ดีกว่าฟิล์มที่เติมเฉพาะแป้งมันสำปะหลัง แคลเซียมคาร์บอเนตหรือผงวุ้นเพียงตัวเดียว  ฟิล์มโปรตีนถั่วเหลืองที่เติมแป้งมันสำปะหลัง แคลเซียมคาร์บอเนตและผงวุ้นที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 1 ของแต่ละสาร  แสดงลักษณะของฟิล์มที่ดีที่สุด  ทั้งคุณสมบัติการต้านทานแรงดึงขาด การต้านทานการซึมผ่านของไอน้ำและการต้านทานการละลายน้ำ เนื่องมาจากการเชื่อมพันธะของโปรตีน แป้งมันสำปะหลัง  แคลเซียมคาร์บอเนต และผงวุ้น