บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและผลของสาร anti-transpirantsต่อการปิดของรูปากใบและคุณภาพของดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์

สุกัญญา เอี่ยมลออ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี.100หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและผลของสาร anti-transpirantsต่อการปิดของรูปากใบและคุณภาพของดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์

ลักษณะปากใบของกลีบประดับของช่อดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์(Curcuma alismatifolia ×Curcuma cordata ‘laddawan’) จัดอยู่ในกลุ่มที่มีเซลล์ข้างเคียง 2 เซลล์ โดยอยู่ด้านข้างของเซลล์คุม(guard cells)ข้างละ 1 เซลล์ ปากใบเป็นชนิด typical stomata คือเซลล์คุมอยู่ระดับเดียวกับเซลล์เอพิเดอร์มิสที่อยู่ติดกันและปากใบไม่มีสิ่งปกคลุม จากการศึกษาจำนวนปากใบที่ตำแหน่งต่าง ๆ ของช่อดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์พบว่าไม่มีความแตกต่างของจำนวนปากใบที่ตำแหน่งต่าง ๆ ของช่อดอก คือ กลีบประดับส่วนบน ส่วนกลางและส่วนล่างของช่อดอกและก้านของช่อดอก แต่จำนวนปากใบบริเวณปลายกลีบประดับมีจำนวนมากกว่าส่วนบริเวณกลางกลีบประดับและโคนของกลีบประดับตามลำดับ (224.17 109.23 และ 33.60 ปากใบ/ตร.ซม. ตามลำดับ) ปากใบบริเวณหน้าใบ (adaxial) ของกลีบประดับมีมากกว่าด้านหลังใบ (abaxial) ของกลีบประดับ (176.47 และ 68.20 ปากใบ/ตร.ซม. ตามลำดับ) และพบขน (trichromes)อยู่บริเวณปลายกลีบประดับทั้งกลีบประดับสีชมพูและสีเขียว จากการศึกษาผลของความชื้นสัมพัทธ์สูงต่อขนาดรูปากใบและการปิดของปากใบโดยการคลุมถุงในระหว่างการขนส่งเป็นระยะเวลา 3วัน พบว่าสภาพความชื้นสูงมีผลทำให้ลดขนาดของรูปากใบและเพิ่มการปิดของรูปากใบของกลีบประดับปทุมมา การใช้สารซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสาร anti-transpirantsเป็นสารละลายปักแจกัน พบว่าสารละลาย abscisic acid (ABA) ความเข้มข้น 5 และ 10 mMและสารละลาย methyl jasmonate (MeJA) ความเข้มข้น 10 mMสามารถลดขนาดของรูปากใบและเพิ่มการปิดของปากใบจึงส่งผลให้ลดการคายน้ำของช่อดอกปทุมมาลดลง การคายน้ำที่ลดลงมีผลทำให้การดูดน้ำของช่อดอกลดลงเช่นกัน แต่การใช้สาร anti-transpirants ไม่สามารถลดการสูญเสียน้ำหนักสดของช่อดอกปทุมมาได้ การใช้สารละลาย MeJAความเข้มข้น 5mM มีผลทำให้ช่อดอกมีการดูดน้ำและอัตราการคายน้ำสูงกว่าช่อดอกที่ปักในน้ำกลั่น ช่อดอกที่ปักในสารละลาย MeJAความเข้มข้น 10 mMและสารละลาย ABAความเข้มข้น 5 และ 10mM  การยอมรับของผู้บริโภคในช่อดอกปทุมมาเมื่อสิ้นสุดการปักแจกัน พบว่าช่อดอกที่ปักในน้ำกลั่นมีการยอมรับด้านคุณภาพจากผู้บริโภคสูงกว่าช่อดอกที่ปักในสารละลายปักแจกัน นอกจากนี้การใช้สารละลาย ABAและ MeJA เป็นสารละลายปักแจกันไม่สามารถยืดอายุการปักแจกันของช่อดอกปทุมมาได้ ผลของการใช้สารละลาย ABAหรือ MeJAความเข้มข้น 5 mMร่วมกับ 8-hydroquioline sulfate (8-HQS)และน้ำตาลซูโครสร้อยละ 2พบว่าสามารถลดขนาดของรูปากใบและเพิ่มการปิดของปากใบได้เมื่อเปรียบเทียบกับ ช่อดอกที่ปักในน้ำกลั่นแต่ไม่สามารถช่วยยืดอายุการปักแจกันและรักษาคุณภาพ ของช่อดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์ได้