บทคัดย่องานวิจัย

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีและคุณภาพของข้าวนึ่งพันธุ์สุพรรณบุรี 1

สาคร นันทะวิชัย

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.174หน้า. 2548.

2548

บทคัดย่อ

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีและคุณภาพของข้าวนึ่งพันธุ์สุพรรณบุรี 1

การศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตข้านึ่งพันธุ์สุพรรณบุรี  1  โดยแช่ข้าวเปลือกในน้ำที่ปรับพีเอช  3  ระดับ  ( 3,  4  และ  5 )  ด้วยกรด  3  ชนิด  คือ  กรดแอสคอร์บิก  อะซิติก  และไฮโรคลอริก  และใช้เวลาในการแช่ข้าวเปลือกนาน  3,  4  และ  5  ชั่วโมงที่อุณหภูมิ  65  องศาเซลเซียส  และใช้  surface  response  แบบ  overlaid  contour  plot  ในการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในพารามิเตอร์ที่พบความแตกต่างทางสถิติจาก  Analysis  of  variance  :  ANOVA  ผลการศึกษาพบว่า  การแช่ข้าวเปลือกในกรดอะซิติกพีเอช  4  นาน  4  ชั่วโมงเป็นสภาวะที่เหมาะสมที่สุด  โดยทำให้ข้าวนึ่งมีค่าสีเหลือง  ( b* )  และน้ำตาลรีดิวซ์ต่ำ  แต่มีความขาวและร้อยละของต้นข้าวสูงกว่าปัจจัยร่วมอื่น ๆ ถึงแม้ว่าปัจจัยทั้ง  3  ปัจจัย  ( ชนิดของกรด  พีเอช  และเวลาในการแช่ข้าวเปลือก )  ไม่มีอิทธิพลร่วมต่อปริมาณโปรตีน  อะมัยโลส  แลการดูดซับน้ำ  การสลายเมล็ดข้าวในด่าง  และอัตราการยืดตัวของเมล็ดข้าวสุก  เมื่อนำข้าวเปลือกแช่ในกรดอะซิติกพีเอช  4  ที่อุณหภูมิ  3  ระดับ   ( 60,  65  และ  70  องศาเซลเซียส )  นาน  3,  4  และ  5  ชั่วโมง  พบว่า  การแช่ข้าวเปลือกด้วยกรดอะซิติก  พีเอช  4  ใช้อุณหภูมิ  65  องศาเซลเซียส  นาน  4  ชั่วโมงทำให้ข้าวนึ่งมีความสว่าง ( L* )  สีเหลือง  ความขาว  ปริมาณอะมัยโลส  ร้อยละของต้นข้าว  และการยอมรับของผู้บริโภคดีที่สุด  นอกจากนี้ยังพบว่าการนำข้าวเปลือกที่ผ่านกระบวนการแช่ในกรดอะซิติก  พีเอช  4  อุณหภูมิ  65  องศาเซลเซียส  นาน  4  ชั่วโมงก่อนนำมานึ่งโดยใช้ความดัน  5  ปอนด์/ ตารางนิ้ว  นาน  5  นาที  ทำให้ข้าวนึ่งมีสีเหลือง  ร้อยละต้นข้าว  ข้าวท้องไข่  ความแข็ง  และการยอมรับจากผู้บริโภคมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการนึ่งโดยใช้ความดัน  5  ปอนด์/ ตารางนิ้ว  นาน  2  นาที  และ  0.0069  ปอนด์/ ตารางนิ้ว ( ความดันบรรยากาศ )  นาน  2  และ  5  นาที  อย่างไรก็ตามข้าวนึ่งที่ใช้ความดัน  และระยะเวลาต่างกันไม่ทำให้ปริมาณโปรตีน  ปริมาณอะมัยโลส  ปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์  การดูดซับน้ำ  การสลายเมล็ดข้าวในด่าง  และ  อัตราการยืดตัวของเมล็ดข้าวสุก  แตกต่างกัน  สำหรับข้าวนึ่ง  ( ผ่านการกะเทาะเปลือก  และการขัดขาวที่ผลิตโดยแช่ข้าวเปลือกด้วยกรดอะซิติก  พีเอช  4  เป็นระยะเวลา  4  ชั่วโมงที่อุณหภูมิ  65  องศาเซลเซียสและนึ่งด้วยความดัน  5  ปอนด์ / ตารางนิ้ว  เป็นเวลา  5  นาที  มาบรรจุในถุงโพลีเอทธิลีน ( ปิดผนึก )  หนา  120  ไมโครเมตร  และถุงลามิเนต  ( ฟิล์ม  2  ชั้นของฟิล์มโพลีเอทธิลีนและไนลอนหนา  170  และ  150  ไมโครเมตร  ตามลำดับ )  แบบสุญญากาศ  โดยเปรียบเทียบกับข้าวสารที่ยังไม่ผ่านการนึ่ง ( ชุดควบคุม )  บรรจุในกระสอบป่าน  และข้าวนึ่งจากบริษัทโรงสีไฟนครหลวง  จำกัด  และบริษัทบุญส่งสยามแลนด์  จำกัด  ที่บรรจุในกระสอบป่านเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา  6  เดือนพบว่า  ข้าวนึ่งที่เก็บรักษาในถุงโพลีเอทธิลีนปิดผนึกมีสีเหลือง  ความขาว  ความแข็ง  ลดลงมากกว่าถุงลามิเนตปิดผนึกแบบสุญญากาศ  อย่างไรก็ตามข้าวนึ่งทีผลิตได้จากการศึกษาครั้งนี้มีค่า  b*  ความแข็ง  และน้ำตาลรีดิวซ์  น้อยกว่าข้าวนึ่งที่ผลิตสำหรับการส่งออกจากบริษัททั้ง  2  บริษัท