บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้สารละลายไคโตแซนต่อกิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับความต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนสและคุณภาพของพริกพันธุ์จินดา

ดรุณี เมฆฉาย

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.88หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

ผลของการใช้สารละลายไคโตแซนต่อกิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับความต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนสและคุณภาพของพริกพันธุ์จินดา

การศึกษากิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับความต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนสในพริก ได้แก่ เอนไซม์ Peroxidase (POD), Phenylalanine ammonia lyase (PAL), b-1,3-glucanase (GLU) และ Chitinase (CHI) ของผลพริกพันธุ์จินดา (พันธุ์ต้านทานต่อโรค) และพันุ์บางช้าง (พันธุ์อ่อนแอต่อโรค) ภายหลังการปลูกเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides  สาเหตุของโรคแอนแทรคโนส นาน 6ชั่วโมง พบว่า พริกพันธุ์จินดาที่ปลูกเชื้อรามีกิจกรรมของ GLU และ CHI เพิ่มสูงขึ้น (p≤0.01และ p ≤0.05)แต่ไม่พบการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมเอนไซม์ POD และ PAL ส่วนพริกพันธุ์บางช้างที่ปลูกเชื้อพบการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมเอนไซม์ POD เท่านั้น ดังนั้นกิจกรรมของเอนไซม์ GLU และ CHIอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงพันธุ์พริกที่ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนสได้หลังการปลูกเชื้อ การศึกษาผลของการใช้สารละลายไคโตแซนต่อการควบคุมโรคแอนแทรคโนส และลักษณะทางสรีระวิทยาของพริกพันธุ์จินดา โดยการทำแผลก่อนการปลูกเชื้อรา C.gloeosporioides  และเคลือบผิวด้วยสารละลายไคโตแซนความเข้มข้น 1.2 และ 1.6 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสารละลายไคโตแซนที่ความเข้มข้น 1.6 เปอร์เซ็นต์ สามารถช่วยชะลอการเกิดโรค และรักษาความแน่นเนื้อของผลพริกได้ดีกว่าสารละลายไคโตแซนความเข้มข้น 1.2  เปอร์เซ็นต์ แต่การใช้สารละลายไคโตแซนที่ความเข้มข้นสูงทำให้เกิดการเน่าของขั้วผลมากกว่าสารละลายไคโตแซนที่ความเข้มข้นต่ำกว่า และการเคลือบผลพริกด้วยไคโตแซนความเข้มข้น 1.6 เปอร์เซ็นต์ มีผลทำให้เกิดกลิ่นหมัก การเคลือบผลพริกด้วยไคโตแซนที่ความเข้มข้น 1.2 เปอร์เซ็นต์ สามารถช่วยลดอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีน แต่ไม่มีผลช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนักสด การเปลี่ยนแปลงค่าความสว่าง (L)ค่าสีแดง (a) ของผลพริก และค่าความสว่าง (L)ค่าสีเหลือง (b) ของขั้วผลพริก จากการศึกษาผลของการใช้สารละลายไคโตแซนที่ความเข้มข้น 1.2 เปอร์เซ็นต์ ต่อการชักนำกิจกรรมของเอนไซม์ POD, PAL, GLU, และ CHI ของผลพริกพันุ์จินดาที่ทำแผลและปลูกเชื้อรา C.gloeosporioides นาน 6,12, 18, 24, 36, และ 48 ชั่วโมง พบว่าไคโตแซนม่มีผลชักนำกิจกรรมของ POD, PAL, GLU, และ CHIในขณะที่ POD, GLU, และ CHIถูกชักนำให้เพิ่มขึ้นได้โดยบาดแผลและการปลูกเชื้อรา