ผลของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการควบคุมเชื้อรา Aspergillus flavus และการสร้างอะฟลาทอกซิน B1 ในข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ในระหว่างการเก็บรักษา
บุญมี ณ รังษี
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี.114หน้า. 2548.
2548
บทคัดย่อ
เมื่อปลูกเชื้อรา A. flavus ลงในข้าวกล้อง 5 พันธุ์ที่มีความชื้นเริ่มต้นร้อยละ 10-11 แล้วบรรจุในถุงกระดาษบ่มที่อุณหภูมิห้อง (30-35 oC) เป็นเวลา 5 วัน พบว่าข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 มีปริมาณไขมันทั้งหมดสูงกว่าพันธุ์อื่น ๆ แต่มีปริมาณ phenolic compound ต่ำ มีปริมาณการปนเปื้อนเชื้อรา A. flavusรวมทั้งมีปริมาณอะฟลาทอกซิน B1(จาก 0.5 เป็น 1.8 ppb) และปริมาณกรดไขมันอิสระสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 60 ชัยนาท 1 ข้าวเหนียวดำ และหอมแดง ในขณะที่ปริมาณไขมันทั้งหมดลดลงมากกว่า และปริมาณ phenolic compoundเพิ่มขึ้นน้อยกว่า แต่ปริมาณโปรตีนลดลงไม่แตกต่างจากพันธุ์อื่น และให้ค่าความเป็นกรด-ด่าง และ TBA (thiobarbituric acid number) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย การปลูกเชื้อไม่ทำให้สีของข้าวกล้องเปลี่ยนแปลง ส่วนผลของการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อราพบว่า คาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 100 สามารถชะลอการเจริญเติบโตของเส้นใยเชื้อรา A. flavusบนอาหาร Potato Dextrose Agar ได้ดีที่สุดแต่ยับยั้งการงอกของสปอร์บน Water agar ได้อย่างสมบูรณ์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง รองลงมาคือ การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 80 และ 60 ตามลำดับ เมื่อเก็บรักษาข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ความชื้นร้อยละ 14 และ 18 ที่ปลูกเชื้อรา A. flavusบรรจุในถุงลามิเนต (15 µm Nylon/ 20µm PE/ 75µm LLDPE) ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าทุกชุดการทดลองมีปริมาณอะฟลาทอกซิน B1เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 12 ppb โดยข้าวกล้องความชื้นร้อยละ 18 เพิ่มขึ้นมากทีสุด การบรรจุในสภาพที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 100 สามารถชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อรา A. flavus และการสร้างอะฟลาทอกซิน B1(พบต่ำกว่า 6 ppb) ได้ดีกว่าการบรรจุแบบสุญญากาศ การบรรจุในสภาพที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 60 และการบรรจุแบบปิดผนึกธรรมดาตามลำดับ และพบว่าค่าความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณโปรตีนทั้งหมดลดลงน้อยที่สุด แต่ไม่ทำให้ไขมันทั้งหมดลดลงแตกต่างกัน ส่วนปริมาณกรดไขมันอิสระและกลิ่นหื่น (TBA) พบว่าข้าวกล้องที่บรรจุในสภาพที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ไม่มีความแตกต่างกันกับการบรรจุแบบสุญญากาศ แต่น้อยกว่าการบรรจุปิดผนึกแบบธรรมกา นอกจากนี้ทุกชุดการทดลองไม่ทำให้ค่า b* (ค่าสีเหลือง) และความชื้นของข้าวกล้องเปลี่ยนแปลง