ผลของสารเคลือบผิวไคโตแซนต่อการควบคุมโรคผลเน่าและการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพและชีวเคมีของเงาะพันธุ์โรงเรียนภายหลังการเก็บเกี่ยว
ทักษมัย ธนไพศาลกิจ
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.127 หน้า.2548.
2548
บทคัดย่อ
การทดสอบผลของไคโตแซนที่ความเข้มข้น 200, 600 , 1,000, 1,400 และ 1,800 ppm ต่อการเจริญทางเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคผลเน่าของเงาะ 4 ชนิดคือ Greeneria sp., Gliocephalotrichum sp., Lasiodiplodia theobromae และ Pestalotiopsis sp. บนอาหารเลี้ยงเชื้อ Potato Dextrose Agar ( PDA ) พบว่าไคโตแซนทุกความเข้มข้นสามารถชะลอการเจริญทางเส้นใยของเชื้อราทุกชนิดได้เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อราที่เลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ที่ไม่ได้ผสมไคโตแซน โดยเฉพาะที่ความเข้มข้น 600-1,800 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Greeneria sp. ได้อย่างสมบูรณ์ และไคโตแซนที่ความเข้มข้น 1,800 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Gliocephalotrichum sp., L. theobromaeและ Pestalotiopsis sp. ได้ร้อยละ 83.29, 69.44 และ 57.52 ตามลำดับ ส่วนผลของไคโตแซนที่ความเข้มข้นร้อยละ 100, 200, 300 และ 400 ppm ต่อการงอกของสปอร์เชื้อรา Greeneria sp., Gliocephalotrichum sp., Lasiodiplodia theobromae และ Pestalotiopsis sp. พบว่าที่ความเข้มข้น 400 ppm สามารถยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ร้อยละ 41.89, 36.96, 34.94 และ 39.96 ตามลำดับ ในขณะที่อาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ที่ผสมสารกำจัดเชื้อราเบนโนมิลความเข้มข้น 1,000 ppm สามารถยับยั้งการเจริญทางเส้นใยและการงอกสปอร์ของเชื้อราทุกชนิดได้อย่างสมบูรณ์ การทดสอบเคลือบผิวเงาะพันธุ์โรงเรียนที่มีการเข้าทำลายของเชื้อตามธรรมชาติด้วยไคโตแซนที่ความเข้มข้น 0, 1,800 ppm และสารกำจัดเชื้อราเบนโนมิล 1,000 ppm แล้วนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 95 พบว่าทั้งไคโตแซนและเบนโนมิลไม่มีผลช่วยชะลอการเกิดโรคเน่าได้ โดยมีการเกิดโรคร้อยละ 20 ในขณะที่เงาะที่ไม่ได้เคลือบผิวมมีการเกิดโรคร้อยละ 27.5 ซึ่งไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ส่วนในผลเงาะที่ทำแผลและปลูกเชื้อ L. theobromae ก่อนการเคลือบผิวด้วยไคโตแซนความเข้มข้น 1,800 ppm พบว่าไคโตแซนสามารถช่วยชะลอการเกิดโรคผลเน่าได้ดีเทียบเท่ากับการใช้สารกำจัดเชื้อราเบนโนมิลคือ มีการเกิดโรคร้อยละ 25 ขณะที่เงาะที่ปลูกเชื้อราและไม่ได้เคลือบผิวด้วยไคโตแซนมีการเกิดโรคร้อยละ 50 นอกจากนี้พบว่าการเคลือบผิวผลเงาะที่ปลูกเชื้อราด้วยไคโตแซนที่ความเข้มข้น 1,800 ppm สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้โดยมีความรุนแรงของโรคร้อยละ 12.5 ของพื้นที่ผิวผลเงาะทั้งหมด ส่วนเงาะที่ไม่ได้เคลือบผิวมีความรุนแรงของโรคเท่ากับร้อยละ 30.0 ของพื้นที่ผิวผลเงาะทั้งหมด อย่าง ไรก็ตามการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคที่ลดลงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ไรโต แซนมีผลไปกระตุ้นกิจกรรมของเอนไซม์เปอร์ออกซิเดสและไคติเนส แต่กิจกรรมของเอนไซม์เปอร์ออกซิเดสและไคติเนสที่เพิ่มขึ้นบนผลเงาะเกิดจากการทำบาดแผลและการปลูกเชื้อรา ผลของไคโตแซนต่อการเปลี่ยนแผลงทางคุณภาพและชีวเคมีของเงาะ พบว่าการเคลือบผิวผลเงาะที่ปลูกเชื้อราด้วยไคโตแซน ความเข้มข้น 1,800 ppm สามารถช่วยชะลอการเปลี่ยนแผลงค่าสี L และปริมาณแอนโธไซยานินที่เปลือกของเงาะ แต่ไม่มีผลช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนักสด อัตราการหายใจ และการผลิตเอทธิลีน การทดสอบด้านการยอมรับของผู้บริโภคของผลเงาะที่เคลือบผิวด้วยไคโตแซนความเข้มข้น 1,800 ppm พบว่าไคโตแซนไม่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติด้านการเปลี่ยนแปลงสีขน สีเนื้อ ความฉ่ำน้ำ กลิ่น และมีคะแนนการยอมรับโดยรวมของผู้บริโภคของเงาะอยู่ในเกณฑ์ปกติจนกระทั่งถึงวันที่ 12 ของอายุการเก็บรักษา