บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเคลือบผิวด้วยวุ้นว่านหางจระเข้ ไคโตซาน และไขคาร์นูบา ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์

มงคล อินทะหลุก

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 167 หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

ผลของการเคลือบผิวด้วยวุ้นว่านหางจระเข้ ไคโตซาน และไขคาร์นูบา ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์

การศึกษาผลของการเคลือบผิวผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ด้วยวุ้นว่านหางจระเข้ ไคโตซาน และไขคาร์นูบา ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว ทำการทดลองโดย แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 ศึกษาหาชนิดและความเข้มข้นที่เหมาะสมของ สารเคลือบผิวสำหรับผลมะม่วง โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 3 การทดลองย่อย แยกตามชนิดของสารเคลือบผิว คือ วุ้นว่านหางจระเข้ ไคโตซาน และ ไขคาร์นูบา ที่ความเข้มข้นต่าง ๆ เปรียบเทียบกับชุดที่ไม่ได้เคลือบผิว และชุดที่เป็นตัวทำละลายของสารเคลือบผิวแต่ละชนิด แล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จากผล การทดลองของแต่ละการทดลองย่อยพบว่า ผลมะม่วงที่เคลือบผิวด้วยวุ้นว่านหางจระเข้ 20 เปอร์เซ็นต์ มีอายุการเก็บรักษานานกว่าชุดทดลองอื่น ๆ โดยผลสามารถสุกได้ตามปกติ และผลที่เคลือบผิวด้วยไคโตซาน 1 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลที่ดีกว่าชุด การทดลองอื่น ๆ ในขณะที่ผลที่เคลือบผิวด้วยไขคาร์นูบา 4 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลดีกว่า ที่ความเข้มข้นอื่น

การทดลองตอนที่ 2 ศึกษาผลของสารเคลือบผิวต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ เมื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25 และ 13 องศาเซลเซียส โดยใช้สารเคลือบผิวที่คัดเลือกมาจากการทดลองตอนที่ 1 คือ วุ้นว่านหางจระเข้ ความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ ไคโตซานความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ และไขคาร์นูบา ความเข้มข้น 4 เปอร์เซ็นต์ นำสารเคลือบผิวข้างต้นมาใช้แบบเดี่ยวและแบบใช้ร่วมกัน พบว่า ในกลุ่มผลมะม่วงที่เคลือบผิวแล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส การเคลือบผิวผลด้วยไคโตซาน 1 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับวุ้นว่านหางจระเข้ 20 เปอร์เซ็นต์สามารถชะลอการเกิดโรคและมีอายุการเก็บรักษานานกว่าผลที่ไม่ได้เคลือบผิว อย่างไรก็ตามการเคลือบผิวด้วยไคโตซาน 1 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับวุ้นว่านหางจระเข้ 20 เปอร์เซ็นต์ สามารถชะลอการสูญเสียน้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงของสีเปลือก ค่าความแน่นเนื้อของผล และการเปลี่ยนแปลงปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ รวมทั้งชะลออัตราการหายใจของผลที่เคลือบผิวได้ดีกว่าชุดการทดลองอื่น ๆ และที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียสก็ได้ผลเช่นเดียวกัน