บทคัดย่องานวิจัย

การคัดแยกฝักมะขามหวานด้วยวิธีการแปรรูปภาพ

นิติพงษ์ ใจสิน

วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมเกษตร) คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 154 หน้า.2549.

2549

บทคัดย่อ

การคัดแยกฝักมะขามหวานด้วยวิธีการแปรรูปภาพ

วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อที่จะระบุตัวแปรกำหนดคุณลักษณะทางกายภาพของฝักมะขามหวานและหาความสัมพันธ์ของตัวแปรกับรูปร่าง ขนาด และตำหนิ ฝักมะขามหวานที่ใช้เป็นพันธุ์ที่นิยม คือ พันธุ์สีทอง และศรีชมพู ตัวแปรกำหนดคุณภาพ ได้แก่ รูปร่าง (ฝักตรง ฝักดาบ และฝักโค้ง) ขนาด (เล็ก กลาง ใหญ่) และตำหนิรอยแตก ตัวแปรทางกายภาพที่ใช้ระบุรูปร่าง ได้แก่ ความยาว เส้นรอบรูป พื้นที่ภาพฉายของฝัก ตำหนิถูกระบุเป็นรอยแตกของฝัก

การทดลองประกอบด้วย การวัดตัวแปรระบุรูปร่าง ขนาดและตำหนิด้วยอุปกรณ์คัดแยกฝักมะขามหวานระดับห้องปฏิบัติการประกอบด้วย กล้องทีวีวงจรปิดดัดแปลงให้ทำงานร่วมกับการ์ดทีวี ไมโครคอนโทรลเลอร์ เซนเซอร์ และคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์ด้วยวิธี Image Procdessing และ การวิเคราะห์ความแปรปรวนของตัวแปรระบุ รูปร่าง ขนาด และตำหนิ ปัจจัยควบคุมได้แก่ ความเร็วสายพาน ลักษณะของการวางฝักมะขามหวาน ลักษณะการเคลื่อนที่ของฝัก ระยะห่างการวางฝักบนสายพานลำเลียง

ผลการทดลองปรากฏว่าตัวแปรกำหนดคุณลักษณะทางกายภาพ ค่า C ของฝักตรงไม่เกิน 55% ฝักดาบอยู่ระหว่าง 57-65%และฝักโค้งมากกว่า 68%อัตราส่วนของความกว้างต่อความหนาในพันธุ์สีทองเท่ากับ 1.25 และพันธุ์ศรีชมพูเท่ากับ 1.02 มุมขั้วฝักของมะขามหวานพันธุ์สีทองอยู่ที่ 152 องศา และพันธุ์ศรีชมพูอยู่ที่ 125 องศา ปัจจัยควบคุมในการวิเคราะห์ความแปรปรวน ไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ (Probability > 0.05) ต่อตัวแปรระบุรูปร่าง ขนาด และรอยแตก อุปกรณ์วัดสามารถคัดแยกฝักมะขามหวาน ตามรูปร่าง ขนาด และรอยแตก ได้ประสิทธิภาพการคัดขนาด อัตราส่วนสิ่งเจือปนเฉลี่ย และสมรรถนะเท่ากับ 89.8%10.2%และ 1517 ฝัก/ชั่วโมง และ 94.3%5.7%และ 1491 ฝัก/ชั่วโมง สำหรับมะขามหวานพันธุ์สีทองและศรีชมพูตามลำดับ อุปกรณ์วัดสามารถตรวจจับรอยแตกทีมีขนาดมากกว่า 0.49 ตารางเซนติเมตรได้ 100%