การคัดเลือกและศักยภาพของจุลินทรีย์ผิวพืชในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว
ศิริรัตน์ตรีกาญจนวัฒนา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.95 หน้า.2549.
2549
บทคัดย่อ
การแยกจุลินทรีย์จากยอด ช่อดอก และผลอ่อน ที่เก็บจากทรงพุ่มไม้ผลเขตร้อนโดยการใช้อาหาร NGA และ GYP ร่วมกับ enrichment technique สามารถรวบรวมจุลินทรีย์ได้ทั้งหมด 347 ไอโซเลต เพื่อคัดเลือก จุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นปฏิปักษ์ต่อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง โดยการทดสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญของเส้นใย การงอกของสปอร์ และการสร้าง fruiting body ของรา การทดสอบความสามารถของจุลินทรีย์ที่คัดเลือกได้ในการคุ้มกันเนื้อเยื่อพืชจากการเข้าทำลายโดยรา C. gloeosporioides สามารถคัดเลือกแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มกันใบมะม่วงจากการเข้าทำลายของราได้ 3 ไอโซเลต คือ 3103 3107 และ 3503 และยีสต์ที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มกันผลชมพู่จากการเข้าทำลายของรา 1 ไอโซเลต คือ D4113 การทดสอบประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการควบคุมการเกิดโรคแอนแทรคโนสพบว่ายีสต์ D4113 สามารถลดการเกิดโรคได้ดีที่สุด เมื่อมีการใช้จุลินทรีย์ก่อน หรือพร้อมกับการปลูกราสาเหตุโรคแบบไม่ทำแผล โดยมีขนาดแผลของการเกิดโรค 1.3 และ 1.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุมที่ปลูกรา C. gloeosporioides เพียงอย่างเดียวมีขนาดแผล 5.36 มิลลิเมตร การทดสอบบนผลมะม่วงโชคอนันต์ พบว่ายีสต์ D4113 ยังคงมีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้ดีกว่าแบคทีเรีย โดยมีขนาดแผล 1.2 1.4 และ 1.6 มิลลิเมตร เมื่อมีการใช้จุลินทรีย์ก่อน พร้อม และหลังการปลูกรา C. gloeosporioides ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุมที่ปลูกรา C. gloeosporioides เพียงอย่างเดียวมีขนาดแผล 4.49 มิลลิเมตร การใช้เซลล์แขวนลอยและ culture filtrate ของแบคทีเรีย 3103 3107 3503 และเซลล์แขวนลอยของยีสต์ D4113 สามารถยับยั้งการงอกของสปอร์และการเจริญของ germ tube ของรา แต่การใช้ culture filtrate ของยีสต์ D4113 ไม่สามารถยับยั้งการเจริญของราได้ ผลการจำแนกแบคทีเรีย 3103 3107 และ 3503 พบว่าทุกไอโซเลต คือ Bacillus megaterium และผลการจำแนกยีสต์ D4113 พบว่าคือ Cryptococcus humicolus