บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาสารเคลือบอิมัลชันจากไคโตซานและกลูโคแมนแนนและการประยุกต์ใช้ในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง

วัณณิตา จิรังรัตน์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาผิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร) คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 137หน้า. 2549.

2549

บทคัดย่อ

การพัฒนาสารเคลือบอิมัลชันจากไคโตซานและกลูโคแมนแนนและการประยุกต์ใช้ในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง

ปัจจุบันมีการใช้สารเคลือบในผักและผลไม้สดเป็นจำนวนมาก เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ให้คงความสดและอยู่ได้นาน แต่ความรู้เกี่ยวกับสารเคลือบ สำหรับตัวผู้บริโภคยังคงมีน้อยมาก และสารเคลือบที่มีอยู่ก็ขาดประสิทธิภาพไม่สามารถทัดเทียมสารเคลือบที่มาจากต่างประเทศ  ซึ่ง มีราคาสูงได้ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมที่มีต่อการใช้สารเคลือบ ในผักและผลไม้และการเลือกซื้อผักและผลไม้สดของผู้บริโภค โดยการออกแบบสอบถาม เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางประชากรศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อ พฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคในการซื้อผักและผลไม้ที่เคลือบผิวด้วยสาร เคลือบที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติ และพัฒนาสารเคลือบอิมัลชันเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติด้านการซึมผ่านไอน้ำของ ฟิล์มคาร์โบไฮเดรตให้ดีขึ้น จากผลการศึกษาพบว่า ผู้บริโภครู้จักสารเคลือบเพียงร้อยละ 33.9 แต่ผู้บริโภคให้ความสนใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการเคลือบผิวเมื่อให้ความ รู้เรื่องสารเคลือบแก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 7.2 และสำหรับการพัฒนาสารเคลือบอิมัลชัน งานวิจัยนี้เลือกใช้สารเคลือบผสมระหว่างไคโตซานและกลูโคแมนแนน ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอยู่มากตามธรรมชาติ มาทำการพัฒนาโดยเติมไขแคนดิลเลล่า พบว่า สารเคลือบที่มีปริมาณไขร้อยละ 7.5 โดยน้ำหนักต่อน้ำหนักของสารเคลือบผสมไคโตซานต่อกลูโคแมนแนนอัตราส่วน 7:3และปริมาณทวีน 80 เท่ากับร้อยละ 8 โดยน้ำหนักต่อน้ำหนัก สามารถกั้นการซึมผ่านไอน้ำได้มากที่สุดเท่ากับ0.43 กรัมมิลลิเมตรต่อตารางเมตรต่อวันต่อมิลลิเมตรปรอท และมีค่าความหนืดเท่ากับ 181.9 เซนติพอยซ์ จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารเคลือบต่อคุณภาพของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองในระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 27±2°C ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 70 ± 5พบว่า มะม่วงที่ไม่เคลือบผิวสามารถเก็บรักษาไว้ได้ 11 วัน ในขณะที่มะม่วงที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบอิมัลชันความเข้มข้นร้อยละ 25 และสารเคลือบผสม สามารถเก็บรักษาไว้ได้ 18 วัน ยังคงมีคุณภาพที่ผู้บริโภคให้การยอมรับเมื่อทำการทดสอบทางประสาทสัมผัสด้านความชอบด้วย 9-point hedonic scaleด้วยระดับคะแนน 6.4 และ 6.1 ตามลำดับ และจากการคำนวณต้นทุนวัตถุดิบสารเคลือบ 1 กิโลกรัม สามารถเคลือบมะม่วงได้ 100 กิโลกรัม มีราคาเท่ากับ 74.8 บาท