บทคัดย่องานวิจัย

ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดน้ำการสร้างโพรลีนและการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

สาวลักษณ์ บันเทิงสุข

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.133 หน้า. 2549.

2549

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดน้ำการสร้างโพรลีนและการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการขาดน้ำ และการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นหลังการขาดน้ำของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย 6 พันธุ์ คือ Anna, Wanna, Buranajade, Bom Jo Red, Sonia Bom Jo#17 และ Miss Teenพบว่าการขาดน้ำของดอกกล้วยไม้ทั้ง 6 พันธุ์ในช่วงเวลาต่างๆ ทันทีหลังการตัดทำให้การเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยวไม่แตกต่างทางสถิติจากดอกกล้วยไม้วางไว้ให้ขาดน้ำภายในห้องปฏิบัติการ (25oซ,ความชื้นสัมพัทธ์ 60-65%)และโดยการเป่าลม (2.3 - 3 เมตร/วินาที) เป็นเวลา 3 6 9 และ 12 ชั่วโมง เมื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลังการขาดน้ำ พบว่าดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์Wannaมีการตอบสนองต่อการขาดน้ำมากที่สุดขณะที่ดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ Annaมีการตอบสนองต่อการขาดน้ำน้อยที่สุด ดอกกล้วยไม้หวายสกุลพันธุ์ Wanna และ Anna หลังการขาดน้ำนาน 3 6 9 และ 12 ชั่วโมง พบว่าดอกตูมและดอกบานของดอกกล้วยไม้ทั้งสองพันธุ์มีการสร้างเอทิลีนเพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาการขาดน้ำที่นานขึ้น ดอกตูมมีอัตราการสร้างเอทิลีนมากกว่าดอกบาน นอกจากนี้ดอกตูมของกล้วยไม้ทั้งสองสายพันธุ์ที่ขาดน้ำมีการสร้างโพรลีนเพิ่มขึ้นหลังการขาดน้ำ ดอกบานของกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ Wannaที่ขาดน้ำนาน 12 ชั่วโมง มีการสร้างโพรลีนมากกว่าดอกกล้วยไม้ที่ไม่ขาดน้ำเพียงเล็กน้อย ขณะที่ดอกบานของกล้วยไม้หวายพันธุ์ Annaที่ขาดน้ำมีการสร้างโพรลีนเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าในดอกบานของกล้วยไม้ที่ไม่ได้ขาดน้ำ เมื่อปักดอกกล้วยไม้ทั้งสองพันธุ์ในสารละลายยืดอายุปักแจกัน พบว่า ดอกกล้วยไม้ที่ปักแจกันในน้ำกลั่นมีการสร้างเอทิลีนมาก ขณะที่ดอกกล้วยไม้ที่ปักแจกันในสารละลายยืดอายุ AgNO3 30 มก./ลิตร+ HQS 225 มก./ลิตร +กลูโคส 4% มีการสร้างเอทิลีนน้อย แต่ในทางตรงกันข้ามการปักแจกันดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ Wanna ในสารละลาย AgNO3 30 มก./ลิตร + HQS 225 มก./ลิตร + กลูโคส 4% ทำให้ดอกกล้วยไม้มีการสร้างโพรลีนมากในระยะเวลา 24 ชั่วโมงของการปักแจกัน และการปักแจกันในสารละ ลายยืดอายุปักแจกัน Al2(SO4)3 75 มก./ลิตร + HQS 225 มก./ลิตร + กลูโคส 4% ทำให้มีการสร้างโพรลีนได้มากที่สุดในดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ Annaภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงของการปักแจกันการปักแจกันดอกกล้วยไม้ทั้งสองพันธุ์ในสารละลาย AgNO3 30 มก./ลิตร + HQS 225 มก./ลิตร + กลูโคส 4% ทำให้มีอายุการใช้งานนานที่สุดปัจจัยพันธุ์กล้วยไม้และเวลาการขาดน้ำมีความสัมพันธ์ต่ออายุปักแจกัน ปัจจัยพันธุ์กล้วยไม้และสาร ละลายยืดอายุมีความสัมพันธ์ต่ออายุการปักแจกัน แต่ปัจจัยพันธุ์กล้วยไม้ เวลาการขาดน้ำและสารละลายยืดอายุไม่มีความสัมพันธ์ทางสถิติต่ออายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้