บทคัดย่องานวิจัย

ผลของ1-methylcyclopropene ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงและการแสดงออกของยีนการสร้างเอทิลีนในดอกกล้วยไม้ สกุลหวาย‘โซเนียบอม#17’ หลังการผสมเกสร

รุจิรา สุขโหตุ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.74 หน้า.2549.

2549

บทคัดย่อ

ผลของ1-methylcyclopropene ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงและการแสดงออกของยีนการสร้างเอทิลีนในดอกกล้วยไม้ สกุลหวาย‘โซเนียบอม#17’ หลังการผสมเกสร

การศึกษาผลของ 1-methylcyclopropene (1-MCP) ต่อการเปลี่ยนแปลงการเสื่อมสภาพและการแสดงออกของยีนของกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์โซเนีย บอม#17 หลังการผสมเกสร โดยให้ดอกกล้วยไม้ได้รับ 1-MCP แล้วตามด้วยการผสมเกสรด้วยเรณูจากดอกกล้วยไม้หวายพันธุ์ขาว 5n พบว่า1-MCP สามารถชะลออาการปากเหลือง การเกิดเส้นเวน และอาการฉ่ำน้ำ ลดการเพิ่มขนาดของรังไข่ และการสร้างเอทิลีน แต่ไม่สามารถยับยั้งอาการคว่ำของดอกได้ การให้เอทิลีนจากภายนอกที่ระดับ 0.1 0.2 0.3 0.4 และ 0.5 ppm พบว่าอาการคว่ำตอบสนองต่อเอทิลีนที่ความเข้มข้น 0.5 ppmก่อนการแสดงออกอาการอื่น ดอกกล้วยไม้ที่ได้รับ aminooxyacetic acid (AOA) ความเข้มข้น 0.3 µmol ก่อนได้รับเอทิลีน 0.5 ppm สามารถยับยั้งอาการคว่ำของดอกกล้วยไม้ได้ เมื่อศึกษาปริมาณ1-aminocyclopropane-1-carboxylic acid (ACC) กิจกรรมของเอนไซม์ ACC synthase (ACS) และACC oxidase (ACO) พบว่าในเส้าเกสรดอกกล้วยไม้ที่ได้รับการผสมเกสรมีปริมาณ ACC และกิจกรรมของเอนไซม์ ACO สูงกว่ากลีบดอก ขณะที่กลีบดอกของดอกกล้วยไม้ที่ได้รับการผสมเกสรมีกิจกรรมของเอนไซม์ ACS สูงกว่าเส้าเกสร และดอกกล้วยไม้ที่ได้รับ 1-MCP ก่อนการผสมเกสรมีปริมาณ ACC กิจกรรมของเอนไซม์ ACS และกิจกรรมของเอนไซม์ ACO ลดลง แต่กิจกรรมของACO ลดลงมากกว่ากิจกรรมของ ACS เมื่อศึกษาการแสดงออกของยีน Den-ACOในเส้าเกสรพบว่าดอกกล้วยไม้ที่ได้รับการผสมเกสรมีการแสดงออกของยีนที่ชั่วโมงที่ 6 ขณะที่ดอกกล้วยไม้ที่ได้รับ1-MCP ก่อนการผสมเกสรมีการแสดงออกของยีนตลอดช่วงเวลาที่ศึกษา และการแสดงออกยีน Den-ACO  ในกลีบดอก พบว่าดอกกล้วยไม้ที่ได้รับการผสมเกสรมีการแสดงออกของยีนที่ชั่วโมงที่12 และ 15 และมีการแสดงออกมากกว่าในกลีบดอกของดอกกล้วยไม้ที่ได้รับ 1-MCP ก่อนการผสมเกสร