บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้วัสดุบรรจุในการห่อก่อนเก็บเกี่ยวต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 หลังเก็บเกี่ยว

ดำรงพล คำแหงวงศ์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการบรรจุ) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 281 หน้า. 2549.

2549

บทคัดย่อ

ผลของการใช้วัสดุบรรจุในการห่อก่อนเก็บเกี่ยวต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 หลังเก็บเกี่ยว

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 โดยการห่อก่อนการเก็บเกี่ยวด้วยวัสดุบรรจุชนิดต่าง ๆ  ได้แก่  วัสดุบรรจุประเภทพลาสติก (V และ VM)ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)ให้มีสมบัติเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของมะม่วง เช่น การคัดเลือกช่วงคลื่นแสง  การควบคุมอุณหภูมิ และสภาพให้ซึมได้ของไอน้ำและแก๊ส  ทำการเปรียบเทียบกับวัสดุบรรจุประเภทกระดาษจากประเทศจีน  ซึ่งนิยมใช้ห่อมะม่วงในปัจจุบัน (P) วัดการเปลี่ยนแปลงของมะม่วงระหว่างการเจริญเติบโตและคุณภาพของมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว  จากผลการทดลองพบว่ามะม่วงที่ห่อด้วยวัสดุบรรจุพลาสติกที่พัฒนาขึ้นมีน้ำหนัก ขนาด ปริมาณแป้ง ปริมาณกรดแอสคอร์บิก สัดส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (SS/TA) ปริมาณน้ำตาล (ซูโครส  กลูโคส  ฟรุคโตส) สูงกว่าที่ห่อด้วยกระดาษและที่ไม่ได้ห่อ  โดยพลาสติกชนิด V ให้ผลดีที่สุด  การห่อด้วยพลาสติกที่ศึกษานี้ทำให้มะม่วงมีการพัฒนาไปสู่ความริบูรณ์ได้เร็วกว่าการห่อด้วยกระดาษและไม่ห่อด้วยวัสดุใด ๆ โดยที่มะม่วงที่ห่อด้วยวัสดุบรรจุพลาสติกมีปริมาณความร้อนสะสม (CDD) มีค่าสูงกว่ามะม่วงที่ห่อด้วยกระดาษและที่ไม่ได้ห่อตลอดช่วงระยะการเจริญเติบโต โดยมีปริมาณความร้อนสะสมเพิ่มสูงถึงประมาณ 1169-1225 CCDเมื่อมะม่วงมีอายุประมาณ 95 วันหลังดอกบานเต็มที่  ขณะที่มะม่วงที่ไม่ได้ห่อมีปริมาณความร้อนสะสมน้อยกว่าประมาณ 948-988  CDD และมะม่วงที่ห่อด้วยกระดาษมีปริมาณความร้อนสะสมน้อยที่สุดประมาณ 883-930 CDD  ตามลำดับ ปริมาณความร้อนสะสมนี้แสดงถึงความบริบูรณ์ของมะม่วงและสอดคล้องกับปริมาณการผลิตเอทิลีนที่มีการเพิ่มขึ้นตลอดช่วงระยะการเจริญเติบโต ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่ามะม่วงที่ด้วยกระดาษและที่ไม่ได้ห่อ  นอกจากนั้นการห่อด้วยพลาสติกที่พัฒนาขึ้นนี้ยังทำให้มะม่วงหลังเก็บเกี่ยวมีคุณภาพดีกว่ามะม่วงที่ห่อด้วยกระดาษและที่ไม่ได้ห่อ  จาการทดสอบทางประสาทสัมผัสพบว่ามะม่วงที่ห่อด้วยพลาสติกนี้มีสีผิวเนียน มันวาว ปราศจากตำหนิ  อย่างไรก็ตามมะม่วงที่ห่อด้วยกระดาษจะมีผิวสีเหลืองตลอดช่วงระยะการเจริญเติบโตตั้งแต่ยังไม่พัฒนาสู่ความบริบูรณ์  โดยมีค่า L และค่า b สูงที่สุดและสอดคล้องกับปริมาณคลอโรฟิลล์และเบต้าแคโรทีนต่ำที่สุด  ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถประเมินความสุกได้จากสิผิวของมะม่วงได้ การห่อด้วยพลาสติกที่พัฒนาขึ้นนี้สร้างสภาวะที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ทำให้มะม่วงพัฒนาไปสู่ความบริบูรณ์ได้เร็วขึ้น  สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น และมีคุณภาพในด้านต่าง ๆ ดีขึ้น เป็นการเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ของมะม่วงของไทย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพของผลิตผลเกษตรอื่น ๆ ต่อไป