สารออกฤทธิ์จากพืชวงศ์ขิงในการยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยว
สุภัทรา จามกระโทก
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.79 หน้า.2549.
2549
บทคัดย่อ
การทดสอบสารสกัดหยาบจากพืชวงศ์ขิง 17 ชนิด น้ำมันระเหย 3 ชนิด ในการต่อต้านการเจริญของเส้นใยและการงอกของสปอร์เชื้อราสาเหตุโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยว ได้แก่ Colletotrichum capsici C. gloeosporioides Dothiorella sp. Lasiodiplodia theobromae Pestalotiopsis sp. และ Pythium aphanidermatum พบว่าสารสกัดหยาบที่สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้ดี ได้แก่ สารสกัดหยาบจากขิง (Zingiber officinale) และ ไพล (Z. montanum) ความเข้มข้น 10,000 ppm ในการทดสอบผลต่อการงอกของสปอร์เชื้อรา C. capsici C. gloeosporioides และ Pestalotiopsis sp. พบว่าสารสกัดหยาบจากขิง เร่ว (Amomum xanthioides) ข่า (Alpinia galangal) ขมิ้นอ้อย (Curcuma zedoaria)ว่านชักมดลูก (C. xanthorrhiza) ความเข้มข้น 25,000 ppm และ กระชาย (Boesenbergia pandurata)ความเข้มข้น 5,000 ppm ให้ผลดีในการทดลอง น้ำมันกระชาย และ น้ำมันขิง สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้ดีที่ความเข้มข้น 1,000 ppm และเมื่อนำมาทดสอบผลต่อการงอกของสปอร์เชื้อราพบว่าสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์ C. capsici C. gloeosporioides และ Pestalotiopsis sp. ได้ดี ที่ความเข้มข้น 100 ppm เมื่อนำสารเคมีสังเคราะห์ ที่เป็นองค์ประกอบของพืชวงศ์ขิง 6 ชนิด ได้แก่ camphene camphor eucalyptol eugenol geraniol และ การบูร (commercial camphor) มาทดสอบพบว่า eugenol และ geraniol ที่ความเข้มข้น 500 และ 1,000 ppm ให้ผลดีในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา เมื่อทำการทดสอบการงอกของสปอร์เชื้อรา พบว่า eugenol ความเข้มข้น 1,000 ppm ให้ผลดีในการยับยั้งการงอกของสปอร์ C. capsici C. gloeosporioides และ Pestalotiopsis sp.จากการคัดเลือกสารทดสอบที่มีประสิทธิภาพดี และมีความเหมาะสมต่อการยับยั้งการเจริญของเส้นใย และการงอกของสปอร์ แล้วนำมาทดสอบการควบคุมโรคแอนแทรคโนสบนผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว พบว่า eugenol ความเข้มข้น 500 ppm ให้ผลดีในการลดขนาดแผลที่เกิดจากการปลูกเชื้อC. gloeosporioides โดยไม่ทำแผล อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม geraniol และ น้ำมันขิง