ผลของสารเคลือบผิวและสภาพดัดแปลงบรรยากาศต่อการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกผลลองกอง
เวศน์ทิวา แพงมา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.110หน้า.2549.
2549
บทคัดย่อ
การเกิดเปลือกสีน้ำตาลเป็นอาการผิดปกติของผลลองกองซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้มีอายุการเก็บรักษาสั้น ในการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้สภาพบรรยากาศดัดแปลง 2 รูปแบบ คือ การเคลือบผิวด้วยสารเคลือบผิวที่รับประทานได้ และการใช้ฟิล์มพลาสติกหุ้มเพื่อชะลอการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกลองกอง การเคลือบผลลองกองด้วยสารไคโตซานชนิด lowmolecular weight(LMW) และ high molecular weight(HMW)ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 1.0 และ 1.5 หรือการเคลือบผิวด้วย sucrose fatty acid esters ชนิด M-1695 ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.1 0.3 และ 0.5 แล้วนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส (ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 95) พบว่าการเก็บรักษาด้วยการเคลือบผิวไคโตซานทุกความเข้มข้นและ sucrose fatty acid esters ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.1 และ 0.3 สามารถชะลอการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกผลลองกองได้เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้สารเคลือบผิว(ชุดควบคุม) ตลอดการเก็บรักษานาน 12 วัน ส่วนการเก็บผลลองกองบนถาดโฟมหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติกโพลีเอทิลีน ความหนา 10 15 และ 20 µm สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสีเปลือก การเกิดสีน้ำตาลและการสูญเสียน้ำหนักได้เป็นอย่างดี โดยสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ โพลีฟีนอลออกซิเดสในเปลือกผลเมื่อเปรียบเทียบกับผลที่ไม่ได้หุ้มฟิล์มทำให้สามารถเก็บรักษาได้ไม่ต่ำกว่า 15 วัน