ผลของสารละลายAnti- transpirant และสารเคลือบผิวต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของผลเงาะพันธุ์ทองเมืองตราด
ลัดดาวัลย์ ขาวสอาด
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.124หน้า.2549.
2549
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของสาร anti-transpirantและสารเคลือบผิวต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาผลเงาะพันธุ์ทองเมืองตราดโดยใช้สาร anti-transpirant2 ชนิดคือ Abscisic acid (ABA) ความเข้มข้น 2.5 5 10 และ 15 µM Salicylic acid (SA) ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 1.0 1.5 และ 2.0 และสารเคลือบผิว 2 ชนิดคือ Sucrose fatty acid ester (M1695) ความเข้มข้นร้อยละ 0.1 0.3 0.5 และ 0.7 ไคโตซานความเข้มข้นร้อยละ 0.25 0.5 0.75 และ 1.0 แล้วนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับผลเงาะที่ไม่ได้ใช้สาร พบว่าผลเงาะที่แช่ด้วยสาร ABA SAและที่เคลือบผิวด้วยสาร Sucrose fatty acid ester (M1695) ทุกความเข้มข้นมีผลต่อการชะลอการเสื่อมสภาพของผลเงาะได้ดีกว่าผลเงาะที่ไม่ได้เคลือบสาร โดยไปลดการสูญเสียน้ำหนัก อัตราการหายใจ อัตราการผลิตเอทิลีน และชะลอการเปลี่ยนแปลงของสีเปลือก แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ ซึ่งจากการศึกษาจะเห็นได้ว่าการจุ่มผลเงาะด้วยสาร ABA ที่ความเข้มข้น 10 µM สาร SA ที่ความเข้มข้นร้อยละ 1.5 และสารเคลือบผิว Sucrose fatty acidester (M1695) ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.3 มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการชะลอการเสื่อมสภาพของผลเงาะ โดยมีอายุการเก็บรักษานาน 12 วัน ในขณะที่ผลเงาะที่เคลือบผิวด้วยสารไคโตซานมีการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วและ เกิดอาการเน่าบริเวณเปลือกและขนของผลและมีอายุการเก็บรักษานานเพียง 8 วัน เช่นเดียวกับผลเงาะที่ไม่ได้เคลือบสาร