ผลของสารละลาย Thidiazuron และ Ethanol ต่ออายุการปักแจกันของดอกหน้าวัว (Anthurium andreanum)
น้ำผึ้ง ทาเวียง
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.100หน้า.2549.
2549
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของสารละลาย Thidiazuron(TDZ)ที่ระดับความเข้มข้น 0 (น้ำกลั่น) (ชุดควบคุม) 5 10 15 30 และ 45 µM ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัวพันธุ์ TropicalและMarshall ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 70-80 โดยเปรียบเทียบกับน้ำประปาและสารละลาย 6-Benzylaminopurine (BA) ที่ระดับความเข้มข้น 100 ppm พบว่าดอกหน้าวัวพันธุ์ Tropical ที่ปักในสารละลาย TDZ ที่ระดับความเข้มข้น 45 µM มีอายุการปักแจกันนานที่สุด คือ 19.30 วัน ในขณะที่ดอกหน้าวัวพันธุ์ Tropical ที่ปักในสารละลาย BA ที่ระดับความเข้มข้น 100 ppmมีอายุการปักแจกันสั้นที่สุด11.70 วัน การใช้สารละลาย TDZ ที่ระดับความเข้มข้น 45 µM สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีบนจานรองดอก การสูญเสียความมันวาว และการเสื่อมสภาพของปลีดอก อย่างไรก็ตามการใช้สารละลาย TDZ ไม่มีผลต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัวพันธุ์Marshallการใช้สารละลาย TDZ มีประสิทธิภาพในการชะลอการเสื่อมสภาพและยืดอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัวพันธุ์ Tropical ดีกว่าดอกหน้าวัวพันธุ์ Marshallการศึกษาผลของสารละลาย Ethanol ที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0 (น้ำกลั่น) (ชุดควบคุม) 0.05 0.3 1.0 1.5 และ 2 ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัวพันธุ์ Tropical และ Marshallโดยเปรียบเทียบกับน้ำประปา พบว่าดอกหน้าวัวทั้งสองพันธุ์ที่ปักในสารละลาย Ethanolที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 2 มีอายุการปักแจกันสั้นที่สุดเท่ากับ 11.70 และ 16.40 วัน ตามลำดับ ในขณะที่ดอกหน้าวัวพันธุ์ Tropical และ Marshall ที่ปักในน้ำประปามีอายุการปักแจกันนานที่สุด 17.90 และ 29.90 วัน ตามลำดับ การใช้สารละลาย Ethanol ไม่สามารถคงสภาพการเปลี่ยนแปลงสีบนจานรองดอกและชะลอการสูญเสียความมันวาวบนจานรองดอกของดอกหน้าวัวภายหลังการเก็บเกี่ยวได้แต่สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของปลีดอกได้