บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการให้แสงต่อการพัฒนาสีผิวของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนกหลังการเก็บเกี่ยว

นิรมล ทีอุทิศ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 102 หน้า. 2549.

2549

บทคัดย่อ

ผลของการให้แสงต่อการพัฒนาสีผิวของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนกหลังการเก็บเกี่ยว

สีผิวของผลไม้ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางคุณภาพที่สำคัญประการหนึ่งของผลิตผลสด ซึ่งแสงมีผลต่อการพัฒนาสีผิวของผลจากการศึกษาผลของการให้แสงที่มีต่อการพัฒนาสีผิวของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนกหลังการเก็บเกี่ยวในปี พ.ศ. 2548 และ 2549 โดยเก็บเกี่ยวผลที่ผ่านการห่อผลบนต้น และมีอายุ 112 วันหลังดอกบาน มาให้แสงอัลตราไวโอเลท (แสง UV, ปริมาณ UVเฉลี่ย 0.01 mW/cm2) แสงฟลูออเรสเซนต์ (แสงWL, ปริมาณ UVเฉลี่ย 0 mW/cm2) และแสง UV ร่วมกับแสง WL(ปริมาณUVเฉลี่ย 0.0053 mW/cm2) โดยให้แสงเป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวันเป็นระยะเวลา 20 วัน ที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับชุดที่ไม่ได้รับแสง (ชุดควบคุม) พบว่าผลการทดลองในปีที่ 1 และ 2 ได้ผลเช่นเดียวกัน โดยในระหว่างการให้แสงผลที่ได้รับแสง UVร่วมกับแสง WL มีสีผิวของผลที่เปลี่ยนแปลงจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองช้ากว่าและมีค่า b*น้อยกว่าทุกชุดการทดลอง และมีปริมาณเบตา-คาโรทีนต่ำสุด แม้ว่าชุดที่มีการให้แสงUV มีปริมาณแอนโทไซยานินเพิ่มขึ้นสูง แต่ปริมาณแอนโทไซยานินที่พบในทุกชุดการทดลองไม่มีผลต่อการเกิดสีแดงที่บริเวณผิวผล ส่วนแอกทิวิตีของเอนไซม์ฟีนิลอลานีน แอมโมเนีย-ไลเอส ในทุกชุดการทดลองมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตลอดการทดลอง โดยชุดที่ให้แสงUV มีแอกทิวิตีของเอนไซม์ฟีนิลอลานีน แอมโมเนีย-ไลเอส สูงกว่าชุดการทดลองอื่น การให้แสงกับผลมะม่วงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ และปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ แต่พบว่าชุดที่ได้รับแสง UVมีแนวโน้มที่ชะลอการลดลงของปริมาณกรดที่ไทเทรตได้เมื่อเปรียบเทียบกับชุดการทดลองอื่น