บทคัดย่องานวิจัย

ผลของวิธีการเก็บรักษาและการกระตุ้นการงอกต่อการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยวของหัวปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่สีชมพู

นิศาชล ธำรงเลาหะพันธุ์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 135 หน้า. 2549.

2549

บทคัดย่อ

ผลของวิธีการเก็บรักษาและการกระตุ้นการงอกต่อการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยวของหัวปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่สีชมพู

ปทุมมา (Curcuma alismatifoliaGagnep.) เป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปทุมาพันธุ์เชียงใหม่สีชมพูที่มีการส่งออกในรูปหัวพันธุ์เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะผลิตในรูปไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีการเก็บรักษาและการกระตุ้นการงอกของหัวพันธุ์ปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่สีชมพู โดยทำการศึกษาวิธีการเก็บรักษา 4วิธี ได้แก่ การเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (26.4ซ, ชุดควบคุม) เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15ซ เก็บรักษาในถุง PVDCแบบไม่ปิดผนึกที่อุณหภูมิ 15ซ และเก็บรักษาในถุง PVDCปิดผนึกแบบสุญญากาศ ที่อุณหภูมิ 15ซ พบว่าหัวพันธุ์ปทุมมาในชุดควบคุมและชุดที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15ซ สามารถเก็บรักษาได้นานเป็นระยะเวลา 12เดือน ส่วนกรรมวิธีที่เก็บรักษาในถุง PVDCแบบไม่ปิดผนึกและปิดผนึกแบบสุญญากาศมีอายุการเก็บรักษา 1 และ 4เดือน ตามลำดับ โดยหัวพันธุ์ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15ซ มีการสูญเสียน้ำหนัก การเน่าของหัวพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงปริมาณแป้งและน้ำตาลน้อยกว่าชุดควบคุม และเมื่อนำไปทดสอบการงอก พบว่า ชุดที่เก็บรักษาที่ 15ซ สามารถงอกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดอายุการเก็บรักษาเป็นเวลา 12 เดือน ในขณะที่ชุดควบคุมมีเปอร์เซ็นต์การงอกลดลงจนไม่สามารถงอกได้ในเดือนที่ 10 ของการเก็บรักษา

ศึกษาการกระตุ้นการงอกของหัวพันธุ์ปทุมมา โดยทำการแช่หัวพันธุ์ปทุมมาในสารควบคุมการเจริญเติบโตชนิดต่างๆ คือ IBA, GA3, BA และ ethrel ที่ความเข้มข้นต่างๆเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง แล้วนำไปบ่มในขุยมะพร้าวที่มีอุณหภูมิ 33±2ซ ความชื้นสัมพันธ์70 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 10, 20, 30 และ 40 วัน ในถุงดำ พบว่า หัวพันธุ์สามารถงอกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในทุกรรมวิธี และมีจำนวนดอกและจำนวนใบไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม แต่การแช่หัวพันธุ์ใน BA 100 ppmที่ระยะการบ่ม 20วัน มีผลต่อจำนวนหน่อที่เกิดมากที่สุด คือ 6.4 หน่อต่อหัว เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม ที่มีจำนวนหน่อต่อหัวเพียง 2.9 หน่อ เท่านั้น

นำกรรมวิธีที่มีแนวโน้มที่ดีจากการทดลองข้างต้นมาทำการทดลองเปรียบเทียบกับหัวพันธุ์ที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ โดยทำการแช่หัวพันธุ์ปทุมมาในสารละลาย IBA 50 ppm, BA 100 ppm, ethrel 100 ppm และแช่น้ำ เป็นเวลานาน 72 ชั่วโมง แล้วนำไปปลูกเพื่อติดตามผล จากการทดลองพบว่า สารควบคุมการเจริญเติบโตทุกชนิดไม่มีอิทธิพลอย่างเด่นชัดต่อเปอร์เซ็นต์การงอก อัตราการหายใจ และจำนวนหน่อที่เกิดขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม (ไม่แช่)