การช้ำเชิงกลของผลมะพร้าวอ่อน
ธนรัตน์ ศรีรุ่งเรือง
วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมเกษตร) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 123 หน้า. 2549.
2549
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เพื่อศึกษาการช้ำเชิงกลของผลมะพร้าวอ่อน เนื่องจากการกดและการกระแทก การศึกษาประกอบด้วย ก) การประเมินความช้ำในการขายส่งและขายปลีก ของมะพร้าวอ่อนที่ตัดแต่งเปลือกสีเขียวออกเป็นทรงห้าเหลี่ยม ข) การหาสมบัติการช้ำเชิงกลของผลมะพร้าวอ่อนเนื่องจากการกดแบบช้าและการกระแทก ทดสอบด้วยหัว Plunger 4 ขนาด คือ 12, 24, 48 และ 96 กรัมทดสอบกับผลมะพร้าวอ่อนพันธุ์น้ำหอมที่มีขนาดสม่ำเสมอ 3 ระยะการเจริญเติบโต (ระยะหนึ่งชั้น ชั้นครึ่ง และสองชั้น)การทดสอบแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ การทดสอบก่อนเกิดการช้ำ (Below threshold) และการทดสอบหลังเกิดการช้ำ (Beyond threshold) ค) การทดสอบ หาแรงดึงของกาบมะพร้าว ผลการศึกษาปรากฏว่า มะพร้าวอ่อนที่จำหน่ายในตลาดขายส่งและ ขายปลีกมีเปอร์เซ็นต์การช้ำอยู่ในช่วง 50 – 100% จำนวนรอยช้ำ/ผลอยู่ในช่วง 1 - 16 รอย/ผล พื้นที่ช้ำอยู่ในช่วง 1 – 19 ตารางเซนติเมตร การทดสอบภายใต้การกระทำเกือบสถิตพบว่า การทดสอบโดยการกดมะพร้าวอ่อนระยะหนึ่งชั้นครึ่ง ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยว มีความไวต่อการเกิดรอยช้ำต่ำที่สุด ค่าปริมาตรช้ำที่จุดเริ่มเกิดรอยช้ำและค่าพลังงานเท่ากับ 1823.434 ± 480 ลูกบาศก์มิลลิเมตร และ 1.66 ± 0.11 จูล ตามลำดับ การทดสอบการกระแทก ให้ผลว่า มะพร้าวอ่อนระยะหนึ่งชั้นครึ่ง มีความไวต่อการเกิดรอยช้ำต่ำที่สุด การกระแทกจะทำให้เกิดค่าปริมาตรช้ำและค่าพลังงานที่จุดเริ่มเกิดรอยช้ำ เท่ากับ 10.67 ± 0.76ลูกบาศก์มิลลิเมตร และ 0.0245จูล ตามลำดับ