บทคัดย่องานวิจัย

วิธีการบ่มมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ทะวายเบอร์ 4 ที่เหมาะสมในระดับการค้า

เจริญ ขุนพรม

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 170 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

วิธีการบ่มมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ทะวายเบอร์ 4 ที่เหมาะสมในระดับการค้า

จากการบ่มผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ด้วยถ่านแก๊สและก๊าซเอทิลีนที่ระดับความเข้มข้น อุณหภูมิในการบ่ม วัสดุในการห่อผล และระดับความบริบูรณ์แตกต่างกัน พบว่าอัตราของถ่านแก๊ส (CaC2)และความเข้มข้นของก๊าซเอทิลีน (C2H4) ที่เหมาะสมในการบ่มผลมะม่วงคือ 20 กรัม/กิโลกรัมและ 200 ไมโครลิตร/ลิตร ตามลำดับ  โดยพบอุณหภูมิภายในภาชนะบ่มมีการเพิ่มขึ้นสูงกว่าอุณหภูมิห้องบ่ม 5 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ระหว่างการบ่มอยู่ระดับ 85-98%ผลที่บ่มด้วย CaC2พบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป 54 ชั่วโมง ขณะที่ผลที่บ่มด้วย C2H4มี CO2เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 1.8% ผลมะม่วงหลังการบ่มมีพื้นที่การเปลี่ยนแปลงสีผิวเปลือกจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองและมีผลที่เปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองระดับ 50-100%มากที่สุด  อุณหภูมิที่เหมาะสมในการบ่มมะม่วงน้ำดอกไม้ด้วย CaC2และ C2H4คือ อุณหภูมิห้อง   โดยพบว่าทุกทรีตเมนต์มีอุณหภูมิภายในภาชนะที่ใช้บ่มสูงกว่าอุณหภูมิห้องบ่ม 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่างการบ่มอยู่ระดับ 85-98%ผลที่บ่มด้วย CaC2ที่อุณหภูมิห้องผลิตเอทิลีนเพิ่มสูงสุดที่ 3 ชั่วโมง และมี CO2ต่ำกว่า 1% ค่าความสว่าง (L) และค่าสีเหลือง (+b) ของสีเนื้อต่ำที่สุด และความแน่นเนื้อลดลงมากที่สุด แต่มีอัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TSS/TA) และปริมาณวิตามินซีสูงที่สุด ขณะที่การบ่มด้วย C2H4มี CO2 เพิ่มสูงสุด 3.9% มีปริมาณ TSS/TA คะแนนความหวาน และคะแนนความชอบของผู้ทดสอบชิมสูงที่สุด แต่มี TA และคะแนนความเปรี้ยวต่ำกว่าผลมะม่วงที่บ่มที่อุณหภูมิ 20 และ 25 องศาเซลเซียส ผลมะม่วงที่ผ่านการห่อผลในแปลงปลูกระยะที่มีผลมีความบริบูรณ์ 40% ด้วยถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ ถุงผ้ารีเมย์สีขาว ถุงผ้ารีเมย์สีดำ และถุงกระดาษ 2 ชั้น ชั้นนอกสีน้ำตาล และชั้นในสีดำ หลังจากบ่มด้วย CaC2และ C2H4มีปริมาณแคโรทีนอยด์ ปริมาณ TSS และ TSS/TAสูงกว่า แต่มี TA และปริมาณวิตามินซีต่ำกว่าผลที่ไม่ห่อ อย่างไรก็ตามพบว่าถุงที่เหมาะสมในการห่อผลมะม่วงและบ่มด้วย CaC2และ C2H4คือถุงกระดาษ 2 ชั้น โดยที่ผลมีการพัฒนาสีเปลือกจากสีเขียวเป็นสีเหลืองดีที่สุด ค่าความสว่าง(L) ค่าสีแดง (+a) และค่าสีเหลือง (+b) ของเปลือกสูงที่สุด แต่ปริมาณคลอโรฟิลล์ต่ำที่สุด การคัดแยกความบริบูรณ์โดยการลอยในน้ำ และน้ำเกลือ 1 และ 2% พบว่าผลมะม่วงที่มีความบริบูรณ์ 80 85 และ 90% มีการลอยน้ำ จมน้ำ และจมน้ำเกลือ 1% มีอายุเก็บเกี่ยวนับจากวันดอกบาน 50% ได้ 85 92 และ 99 วันตามลำดับ และมีความร้อนสะสมในแปลงปลูกเท่ากับ 1,204.5 1,261.25 และ 1,314.25 CDD ตามลำดับ ความบริบูรณ์ที่เหมาะสมในการบ่มผลมะม่วงด้วย CaC2และ C2H4คือ 85 และ 90% โดยผลที่บ่มด้วย CaC2มี พื้นที่การเปลี่ยนแปลงสีเปลือกจากสีเขียวไปเป็นสีเหลือง ค่าสีแดง (+a) ของเปลือกและปริมาณ TSSสูงกว่า ขณะที่ผลที่บ่มด้วย C2H4มีค่าสีเหลือง (+b) ของเปลือกผล ปริมาณ TSS และ TA สูงกว่าผลที่มีความบริบูรณ์ 80% จากการนำผลของ CaC2C2H4กับปัจจัยที่เหมาะสมที่สุดมาปรับใช้ในทางการค้าไม่พบความแตกต่างของคุณภาพทางเคมีและทางประสาทสัมผัส