บทคัดย่องานวิจัย

คุณสมบัติในการรับแรงกระแทกและการกดทับของผลลำไยพันธุ์ดอ

นวลฉวี ปงรังษี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 122 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

คุณสมบัติในการรับแรงกระแทกและการกดทับของผลลำไยพันธุ์ดอ

การศึกษาคุณสมบัติในการรับแรงกระแทกและการกดทับของผลลำไยสดพันธุ์ดอ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการลดความเสียหายของผลลำไยสดในระหว่างการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว งานวิจัยนี้ได้จำลองการกดทับผลลำไยในระหว่างการขนส่ง โดยการกดทับผลลำไยด้วยเครื่อง Texture Analyzer และจำลองการกระแทกโดยใช้เครื่องทดสอบการกระแทก ซึ่งเป็นการจำลองการกระแทกในระหว่างการเทผลลำไยลงในภาชนะบรรจุและเครื่องคัดเกรด ผลการทดลองพบว่าที่ตำแหน่งด้านข้างของผลลำไยที่เก็บเกี่ยวมาใหม่และผลลำไยที่ผ่านการแช่เย็นที่อุณหภูมิ 10 องศา เป็นเวลา 3 วัน สามารถรับแรงกดทับได้น้อยที่สุด มีโอกาสเกิดการปริแตกได้ง่ายกว่าการกดทับที่ตำแหน่งด้านขั้วและด้านล่าง โดยเมื่อกดทับที่ตำแหน่งด้านข้างผลลำไยที่เก็บเกี่ยวมาใหม่และที่ผ่านการแช่เย็นเริ่มแตกด้วยแรงกด 72.5±2.6 และ 63.5±1.6 นิวตัน ตามลำดับ ผลการทดสอบการกดทับที่ระยะต่างๆ พบว่าผลลำไยที่เก็บเกี่ยวมาใหม่และที่ผ่านการแช่เย็น เริ่มเกิดอาการช้ำเมื่อถูกกดทับจนมีระยะยุบตัว 5 เปอร์เซ็นต์ของความสูงของผลขึ้นไป หรือเมื่อถูกกดทับด้วยแรง 5.3±1.3 และ 5.1±1.2 นิวตัน ตามลำดับ และที่ระยะยุบตัวเท่ากัน ผลลำไยที่ผ่านการแช่เย็นแสดงอาการช้ำมากกว่าผลลำไยที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ และมีความสัมพันธ์ระหว่างระยะยุบตัวของผลลำไยกับพลังงานดูดซับเป็นสมการยกกำลัง โดยมีค่า R2 เท่ากับ 0.99 ทั้งในผลลำไยที่เก็บเกี่ยวมาใหม่และผลลำไยที่ผ่านการแช่เย็น และเมื่อผลลำไยถูกกดทับจนยุบตัวเพิ่มขึ้น เปอร์เซ็นต์การรั่วไหลของสารอีเล็กโตรไลต์ เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของค่าสีเปลือก และเปอร์เซ็นต์การเน่าเสียเพิ่มขึ้นมีลักษณะเป็นเส้นตรง ผลลำไยที่เก็บเกี่ยวมาใหม่และผลลำไยที่ผ่านการแช่เย็นเมื่อถูกกระแทกด้วยลูกตุ้มเหล็ก เกิดความช้ำเมื่อได้รับงานขณะเกิดการกระแทก 0.081±0.007 และ 0.079±0.013 นิวตัน.เมตร ตามลำดับ สำหรับการกระแทกกันระหว่างผลลำไยด้วยกันเองเกิดความช้ำเมื่อได้รับงานขณะเกิดการกระแทก 0.079±0.012 และ 0.080±0.011 นิวตัน.เมตร ตามลำดับ โดยผลลำไยที่ผ่านการแช่เย็นแสดงอาการช้ำมากกว่าผลลำไยที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ และผลลำไยแสดงอาการช้ำจากการตกกระแทกบนพื้นเหล็กมากกว่าการกระแทกระหว่างผลลำไยด้วยกันเอง และเมื่อผลลำไยถูกกระแทกด้วยแรงเพิ่มขึ้น พบว่ามีเปอร์เซ็นต์การรั่วไหลของสารอีเล็กโตรไลต์ เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของค่าสีเปลือก และเปอร์เซ็นต์การเน่าเสียเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกับการทดสอบการกดทับ