บทคัดย่องานวิจัย

ผลของกรดแอสคอร์บิกและสารเคลือบผิวที่บริโภคได้ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลำไยพันธุ์ดอ

ศันสนีย์ กาบบัว

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) พืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 158 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของกรดแอสคอร์บิกและสารเคลือบผิวที่บริโภคได้ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลำไยพันธุ์ดอ

การศึกษาผลของกรดแอสคอร์บิกต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลำไยพันธุ์ดอ  โดยการแช่ผลลำไยในสารละลายกรดแอสคอร์บิกความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์  นาน 0 (ชุดควบคุม), 1, 5, 10, 20 และ 30 นาที  เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส พบว่า ผลลำไยมีอายุการเก็บรักษาได้  15, 21, 21, 18, 15และ 15 วัน ตามลำดับ โดยผลลำไยที่แช่ในสารละลายกรดแอสคอร์บิกความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ นาน 1 และ 5 นาที มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักสด เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเปลือก  กิจกรรมของเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดส ระดับคะแนนการเน่าเสีย และระดับคะแนนการเกิดสีน้ำตาลที่เปลือกผลน้อยกว่าชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีปริมาณวิตามินซี ปริมาณสารประกอบฟีนอล และระดับคะแนนการยอมรับในการบริโภคโดยรวมมากกว่าชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อแช่ผลลำไยในสารละลายกรดแอสคอร์บิกความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 20และ 30นาที พบว่า มีความเสียหายของเปลือกผลเกิดขึ้น โดยมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักสด เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเปลือก  ระดับคะแนนการเน่าเสีย และระดับคะแนนการเกิดสีน้ำตาลที่เปลือกผลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกับผลที่แช่ในสารละลายกรดแอสคอร์บิกความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ นาน 1 และ 5 นาที แต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับชุดควบคุม

การศึกษาผลของสารเคลือบผิวที่บริโภคได้   ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลำไยพันธุ์ดอโดยการเคลือบผิวผลลำไยด้วยสารละลายวุ้นความเข้มข้น 1 และ 2% สารละลายเจลาตินความเข้มข้น 2, 4 และ 6% และไม่เคลือบผิว (ชุดควบคุม) แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส พบว่า ผลลำไยมีอายุการเก็บรักษาได้  18, 18, 21, 21, 21 และ 21 วัน ตามลำดับ โดยผลลำไยที่เคลือบผิวด้วยสารละลายวุ้นความเข้มข้น 1 และ 2% สารละลายเจลาตินความเข้มข้น 2, 4 และ 6% มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักสดน้อยชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

การศึกษาผลของสารเคลือบผิวที่บริโภคได้   ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลำไยพันธุ์ดอแบบแกะเปลือก โดยนำผลลำไยที่แกะเปลือกแล้วไปเคลือบผิวด้วยสารละลายวุ้นความเข้มข้น 1 และ 2% สารละลายเจลาตินความเข้มข้น 2, 4 และ 6% และไม่เคลือบผิว (ชุดควบคุม) แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส พบว่า ผลลำไยมีอายุการเก็บรักษาได้  6, 6, 5, 5, 5และ 4 วัน ตามลำดับ โดยผลลำไยที่เคลือบผิวด้วยสารละลายวุ้นความเข้มข้น 1 และ 2% สารละลายเจลาตินความเข้มข้น 2, 4 และ 6% มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักสดน้อยกว่าชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และผลลำไยที่เคลือบผิวด้วยสารละลายเจลาตินความเข้มข้น 6% มีปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้มากกว่าชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ