ผลของการให้คลื่นความถี่วิทยุต่อการควบคุมเชื้อราที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105
พัทยา จันทร์แหง
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 82 หน้า. 2550.
2550
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการให้คลื่นความถี่วิทยุในการควบคุมเชื้อราที่ ติดมากับเมล็ดพันธุ์และผลกระทบต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105จากการตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นของเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105ก่อนการให้คลื่นความถี่วิทยุ พบว่ามีความชื้นเริ่มต้น 13เปอร์เซ็นต์ ความงอก 87เปอร์เซ็นต์ ความแข็งแรง 84เปอร์เซ็นต์ และความมีชีวิต 97เปอร์เซ็นต์ และตรวจหาชนิดและปริมาณเชื้อราที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105โดยวิธีเพาะบนอาหารวุ้น (agar method)สามารถตรวจพบเชื้อราทั้งหมด 6ชนิด ได้แก่ Trichoconis padwickii, Bipolaris oryzae, Fusarium semitectum, Fusariumsp., Rhizopus sp., และChaetomiumsp. ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยตรวจพบเชื้อรา T. padwickiiในปริมาณมากที่สุดคือ 37เปอร์เซ็นต์ ใช้คลื่นความถี่วิทยุที่อุณหภูมิ 70, 75 และ 80องศาเซลเซียล เป็นเวลา 1, 3และ 5นาที จากการทดลองพบว่าคลื่นความถี่วิทยุมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยสามารถลดปริมาณเชื้อรา T. padwickiiลงได้ถึง 84เปอร์เซ็นต์ ที่อุณหภูมิ 80องศาเซลเซียล เป็นเวลา 3นาที แต่อย่างไรก็ตามคลื่นความถี่วิทยุส่งผลกระทบต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105ด้วยตามอุณหภูมิและระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้น คลื่นความถี่วิทยุที่อุณหภูมิ 80องศาเซลเซียล เป็นเวลา 5นาที มีผลทำให้ความชื้นเมล็ดพันธุ์ลดลงเป็น 11เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ความงอกเมล็ดพันธุ์ลดลงเหลือ 37เปอร์เซ็นต์ ความแข็งแรงลดลงเหลือ 43เปอร์เซ็นต์ และความมีชีวิตลดลงเหลือ 88เปอร์เซ็นต์
อุณหภูมิและระยะเวลาในการให้คลื่นความถี่วิทยุที่เหมาะสมในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในระดับที่ยอมรับได้ และมีผลกระทบต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์น้อยที่สุด คือ ที่อุณหภูมิ 70องศาเซลเซียล เป็นเวลา 1นาที โดยสามารถลดปริมาณเชื้อรา T. padwickiiลงได้ 40เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ลงถึงระดับ 12เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังคงรักษาความงอกเมล็ดพันธุ์ ความแข็งแรง และความมีชีวิต อยู่ที่ระดับ 80, 87 และ 97เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ