บทคัดย่องานวิจัย

ผลของโอโซนต่อการควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยว การเปลี่ยนแปลงโปรตีน และระบบแอนตีออกซิแดนซ์ของผลลำไยพันธุ์ดอระหว่างการเก็บรักษา

ศรัณยา เพ่งผล

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 112 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของโอโซนต่อการควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยว การเปลี่ยนแปลงโปรตีน และระบบแอนตีออกซิแดนซ์ของผลลำไยพันธุ์ดอระหว่างการเก็บรักษา

การศึกษาผลของโอโซนต่อการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยว  การเปลี่ยนแปลงโปรตีน และระบบแอนตีออกซิแดนซ์ของผลลำไยพันธุ์ดอระหว่างการเก็บรักษา โดยนำผลลำไยมารมด้วยก๊าซโอโซนความเข้มข้น 200 ppmเป็นเวลา 60 นาที และนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 27 °C และ 5 °C เป็นเวลา 3วัน และ 2สัปดาห์ ตามลำดับ พบว่าการรมด้วยก๊าซโอโซนสามารถลดเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคได้เมื่อเทียบกับชุดควบคุม โดยเฉพาะเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 °C สามารถลดการเกิดโรคได้ดียิ่งขึ้น โดยให้ผลเช่นเดียวกับการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และการเก็บรักษาผลลำไยในอุณหภูมิ 5 °C และ 27 °Cมีผลทำให้ปริมาณโปรตีนที่ละลายได้ในเปลือกผล จำนวนแถบโปรตีน (โดยวิธีเอสดีเอส-โพลีอะคริลาไมด์เจลอิเล็กโตรโฟรีซิส ความเข้มข้น 10%) และปริมาณกรดแอสคอร์บิกในเปลือกมีแนวโน้มลดลง แต่กิจกรรมเอนไซม์ catalaseเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลลำไยที่รมด้วยก๊าซโอโซนก่อนนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 °C มีผลทำให้ปริมาณ peroxidesทั้งหมดในเปลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับที่อุณหภูมิ 27 °Cที่มีปริมาณ peroxides ทั้งหมดลดลง นอกจากนี้ในเนื้อผลของลำไยพบการเปลี่ยนแปลงทั้งโปรตีน ปริมาณ peroxides ทั้งหมด กรดแอสคอร์บิก และกิจกรรมของเอนไซม์ catalase ไม่มากนัก  จากผลการทดลองนี้ พบว่าการให้โอโซนทำให้ผลลำไยต้านทานต่อการเกิดโรคได้ โดยอาจสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมของเอนไซม์ catalase ดังนั้นการใช้โอโซนน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการทดแทนการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของลำไย