บทคัดย่องานวิจัย

สภาพการผลิตและจำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้สำหรับการส่งออกของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ศิริพร พจนการุณ, สำอางค์ เกตุวราภรณ์ และ อนรรค อุปมาลี

กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า

2551

บทคัดย่อ

สภาพการผลิตและจำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้สำหรับการส่งออกของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพการผลิตและการจำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก สำหรับเป็นแนวทางในการวิจัยทดสอบ และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้แบบเกษตรกรมีส่วนร่วมตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสมพื้นที่เกษตรกร ประชากรที่ศึกษาครั้งนี้เป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 89 ราย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิหลัง ข้อมูลการผลิตด้านการปฏิบัติดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต การควบคุมคุณภาพมะม่วงน้ำดอกไม้ ข้อมูลด้านต้นทุนการผลิตและรายได้ การคัดเกรดผลผลิต และการจำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้ของเกษตรกร โดยใช้แบบสอบถามดำเนินการรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2551 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

                จาก การศึกษา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 40-59 ปี มีความรู้ระดับประถมศึกษา ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้พันธุ์ทะวายเบอร์ 4 มากที่สุด รองลงมา คือพันธุ์สีทอง โดยผลิตเพื่อการส่งออกเป็นอาชีพหลัก เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้เฉลี่ย 9.93 ไร่ จำนวนต้นต่อไร่เฉลี่ย 53.31 ต้น มีจำนวนต้นที่ให้ผลผลิตในฤดูกาลปลูกปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 73.43 ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เฉลี่ย 845.56 กิโลกรัม เกษตรส่วนใหญ่มีประสบการณ์เรื่องการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก เฉลี่ย 4.69 ปี โดยเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกจากประธานกลุ่ม และเพื่อนเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงด้วยกันเอง สำหรับการปฏิบัติดูแลรักษา เกษตรกรส่วนใหญ่มีการตัดแต่งกิ่ง มีการให้น้ำแก่ต้นมะม่วงช่วงเดือนธันวาคม ถึงเมษายน มีการปลิดผลอ่อนที่มีลักษณะกระเทย และบิดเบี้ยวไม่ตรงตามพันธุ์ มีการห่อผล โดยส่วนใหญ่ใช้ถุงใหม่ในการห่อมากที่สุด รองลงมาคือ ถุงเก่า 1 ปี เกณฑ์ในการคัดเลือกถุงเก่า คือเลือกถุงที่ไม่ขาดมากที่สุด รองลงมาคือ เลือกถุงที่ไม่มีเพลี้ยแป้งติดในถุงเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า และถุงที่ห่อผลแล้วไม่พบโรคติดในผล ตามลำดับ ทั้งนี้ มีการนำถุงเก่าตากแดดก่อนใช้ แมลงศัตรูที่พบมากที่สุด คือ เพลี้ยไฟมะม่วง โรคที่พบมากที่สุดคือ แอนแทรคโนส เกษตรกรกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมีร่วมกับวิธีกล ส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวโดยใช้บันได และใช้มือในการเก็บผล เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจเก็บเกี่ยว คือ การนำผลไปลอยน้ำ มีการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลมะม่วงก่อนการเก็บเกี่ยว และส่วนใหญ่ผ่านการตรวจสอบ ทำความสะอาดผลโดยใช้ผ้าเช็ดเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ติดมากับผล และเด็ดขั้วให้เหลือชิดผล การคัดเกรดใช้ระบบการชั่งน้ำหนัก เกษตรกรจำหน่ายในลักษณะเป็นตะกร้าให้พ่อค้าบรรจุเอง โดยจำหน่ายให้แก่ผู้ส่งออกที่จุดรับซื้อของกลุ่ม โดยจำหน่ายเป็นครั้งๆ ตามที่พ่อค้าสั่งซื้อ ราคาผลผลิตเกรดเอ กิโลกรัมละ 31.12 บาท เกรดบี กิโลกรัมละ 22.18 บาท และเกรดซี กิโลกรัมละ 15.00 บาท โดยผลผลิตส่วนใหญ่เป็นเกรดเอและบี เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยทั้งหมด เท่ากับ 174,539.00 บาท/ปี มีรายได้เฉลี่ยต่อไร่ เท่ากับ 16,768.31 บาท/ปี มีต้นทุนเฉลี่ยต่อไร่ เท่ากับ 11,719.20 บาท/ปี และมีกำไรเฉลี่ยต่อไร่ เท่ากับ 5,049.11 บาท/ปี

                เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการทราบความแตกต่างระหว่างการใช้ถุงใหม่และถุงเก่าในการห่อผลที่มีต่อคุณภาพผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากเพื่อลดต้นทุนการผลิตมะม่วงยังไม่ทราบความแตกต่างระหว่างการใช้ถุงเก่ากับถุงใหม่ และเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกถึงในการห่อผล นอกจากนี้ เกษตรกรต้องการช่วยเหลือทางวิชาการในระดับ‘มาก’ ด้านสายพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้พันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี มากที่สุด รองลงมา คือ การปรับปรุงคุณภาพผลผลิตด้านสีผิว และขนาดผลให้ได้ 3 ผลต่อกิโลกรัม สายพันธุ์ต้นตอที่มีความแข็งแรงและให้ผลผลิตคุณภาพดี การลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย การลดต้นทุนการใช้สารเคมีป้องกันโรคและแมลง การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรคโนส ตามลำดับ

                ดังนั้น ผลงานวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ สามารถใช้เป็นแนวทางศึกษาการปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสำหรับการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออกแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม ตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสมในพื้นที่ โดยเน้นการศึกษาเทคโนโลยีการห่อผล และความแตกต่างระหว่างการใช้ถุงเก่าและถุงใหม่ในการห่อผลที่มีคุณภาพผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ของเกษตรกรต่อไป