วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก
ชูชาติ วัฒนวรรณ, สุภัทรา เสิศวัฒนาเกียรติ และอรุณี วัฒนวรรณ
กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า
2551
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยีการผลิต คุณภาพผลผลิต และผลตอบแทนทางการเงินในการผลิตมะม่วงระหว่างวิธีของกลุ่มผลิตเพื่อการส่งออก (กลุ่มผู้นำ) กับกลุ่มที่ต้องการผลิตเพื่อการส่งออก (เกษตรกร) ผลการดำเนินงานกลุ่มผู้นำได้ผลผลิตเฉลี่ย 737.4 กิโลกรัมต่อไร่ วิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 588.6 กิโลกรัมต่อไร่ กลุ่มผู้นำได้ผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออกต่างประเทศได้ 65.6 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนเกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออกต่างประเทศได้ 14.6 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มผู้นำได้ผลตอบแทน 19,259.8 บาทต่อไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทน 5,068.8 บาทต่อไร่ กลุ่มผู้นำมีค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมต่างๆ เรียงตามลำดับจากสูงสุด 3 กิจกรรมแรกคือ การแต่งผลและห่อผล การใส่ปุ๋ย-ปรับปรุงดิน การป้องกันกำจัดศัตรูพืช คิดเป็น 39.2 20.4 และ20.2 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามลำดับ ส่วนเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเรียงลำดับจากสูงสุด 3 กิจกรรมแรกคือ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การกระตุ้นตาใบและตาดอก การใส่ปุ๋ย-ปรับปรุงดิน คิดเป็น 28.4 22.2 และ 16.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยมีอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุน (BCR)มากกว่าวิธีเกษตรกร วิธีของกลุ่มผู้นำมีค่า 2.9 และวิธีเกษตรกรมีค่า 1.7 มีอัตราส่วนผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (MRR)มีค่า 419.9 เปอร์เซ็นต์ การผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกจำเป็นต้องห่อผลด้วยถุงที่เหมาะสมที่อายุผล 40-60 วันหลังดอกบาน เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้และทำให้ผลมะม่วงเมื่อสุกมีสีเหลืองสวยสะดุดตา