การศึกษากระบวนการทางการตลาดทุเรียนของเบญจภาคีส่งออกผลไม้จังหวัดจันทบุรี
อุรสา บัวตะมะ และถนอมนวล สีหะกุลัง
กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า
2551
บทคัดย่อ
การแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเป็น “เบญจภาคีส่งออกผลไม้จันทบุรี”ในปี พ.ศ. 2548 นับเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบพันธมิตร (Cluster) เพื่อให้เกิดความร่วมมือและช่วยเหลือกันและกันของกลุ่มผู้ ผลิตผลไม้ ผู้ส่งออก และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างครบวงจร ทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ในการดำเนินงานของเบญจภาคี ดังนั้นการศึกษาและวิเคราะห์กระบวนการทางการตลาดทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งการวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินการของกลุ่มภาคี จะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานสำหรับการส่งออก ข้อดีข้อเสียของกระบวนการทางการตลาด ปัญหาทางการตลาด อันจะสามารถทำให้การดำเนินการเบญจภาคีของทุเรียนบรรลุตามเจตนารมณ์ และได้รับการปรับปรุงแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ทำการเก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ กลุ่มเบญจภาคี ทั้ง 5 คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี หอการค้าจังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กลุ่มพันธมิตรผู้ส่งออก และเกษตรกร พบว่า ปี พ.ศ. 2548 ถึงปี พ.ศ. 2549 องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีได้เข้าไปกำหนดราคาขั้นต่ำอย่างเป็นธรรม เพื่อไม่ให้พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบเกษตรกร และได้จัดสรรงบประมาณ ทำหน้าที่เป็นคนกลางรับซื้อทุเรียนที่ได้มาตรฐาน GAP ผ่านเครือข่าย องค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรจังหวัดจันทบุรี และกำหนดจุดรับซื้อเช่นเดียวกับล้ง ส่งผลให้ระดับราคารับซื้อของตลาดทุเรียนปรับสูงขึ้นกิโลกรัมละ 13 บาท เป็นกิโลกรัมละ 19 บาท สำหรับทุเรียนที่ได้รับมาตรฐานในการส่งออก จะถูกส่งไปประเทศอินโดนีเชีย ญี่ปุ่น และจีน โดยวิธีการตกลงราคา ณ เวลาซื้อขาย และผู้ซื้อจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งไปต่างประเทศทั้งหมด แม้ว่าการดำเนินการแทรกแซงตลาดดังกล่าวจะส่งผลต่อกลไกการตลาด และเกิดความคล่องตัวก็เป็นเพียงระยะสั้นมากและต้องทุ่มงบประมาณจำนวนไม่น้อย และไม่ได้รับผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ แต่ก็สร้างความเชื่อมั่นในตลาดต่างประเทศ และเป็นโอกาสอันดีของการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของเกษตรกร