การจัดการคุณภาพลำไยสดเพื่อการส่งออก
อรุณี วัฒนวรรณ, ชูชาติ วัฒนวรรณ, โอภาส จันทสุข และเกษสิริ ฉันทะพิริยะพูล
กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า
2551
บทคัดย่อ
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ดำเนินการจัดการคุณภาพลำไยสดในเขตภาคตะวันออก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพลำไยสดเพื่อการส่งออก โดยดำเนินการวิจัยทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP ภายใต้สัญลักษณ์ Q ควบคุมกำกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้ถูกต้องตามกฎหมายและเกษตรกรได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ตลอดจนตรวจสอบสารพิษตกค้าง และปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไยสดก่อนการส่งออก ผลการดำเนินการในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยใหญ่ของภาคตะวันออก พบว่าเทคโนโลยีแนะนำสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพส่งออก (เกรด 1 และ 2) ได้ร้อยละ 12 โดยมีปริมาณผลผลิตคุณภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64 เป็นร้อยละ 76 โดยที่ปริมาณสารพิษตกค้างในผลผลิตผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด การจัดการด้านระบบการผลิตพบว่า ปัจจุบันสามารถรับรองแหล่งผลิตลำไยได้ถึงร้อยละ 98 ของจำนวนแหล่งผลิตที่ขึ้นทะเบียนไว้ และปีที่ผ่านมาได้ตรวจและรับรองร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สามารถรับรองร้าน (Q Shop) จำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรที่มีคุณภาพ จำนวน 22 ร้าน ร้านจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่มีคุณภาพ จำนวน 18 ร้าน และพบตัวอย่างปัจจัยการผลิตเพียงร้อยละ 11 ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับการจัดการด้านการส่งออกได้ดำเนินการตรวจสอบสารพิษตกค้างและปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไยก่อนการส่งออก ปี 2550 พบลำไยสดมีปริมารสารพิษตกค้างไม่ผ่านตามมาตรฐาน ร้อยละ 3 และมีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 2 ทำให้สามารถดำเนินการออกใบรับรองสารพิษตกค้างประกอบพิธีการส่งออก จำนวน 1, 152 ฉบับ โดยมีปริมาณการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 23,000 ตัน