บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสาร N-lauroylethanolamine (NAE) และ putrescine ต่ออายุการปักแจกันและการแสดงออกของยีน ACC synthase (ACS) และ ACC oxidase (ACO) ในดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

ฐิติภรณ์ ธีระวิวัฒนกิจ ราชกัลป์ พรหมอาจ สุดารัตน์ ถนนแก้ว และพรเทพ ถนนแก้ว

กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า

2551

บทคัดย่อ

ผลของสาร N-lauroylethanolamine (NAE) และ putrescine ต่ออายุการปักแจกันและการแสดงออกของยีน ACC synthase (ACS) และ ACC oxidase (ACO) ในดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

                มีสารยับยั้งการสร้างเอทธิลีนหลายชนิดที่ถูกนำไปใช้เพื่อชะลอการเสื่อมสภาพของดอกและเพื่อยืดอายุการปักแจกันในกล้วยไม้ตัดดอก การศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงผลกระทบของสาร N-lauroylethanolamine (NAE) และ putrescine ที่มีต่ออายุการปักแจกัน และการแสดงออกของยีน ACC synthase (ACS) และ ACC oxidase (ACO) ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องในวิถีการสังเคราะห์สารเอทธิลีนในดอกกล้วยไม้สกุลหวาย NAE จัดเป็นสารกลุ่ม fatty acid amide ที่พบในชั้นไขมันของผนังเซลล์สัตว์และพืช ในขณะที่ putrescine จัดเป็นสารในกลุ่ม polyamine ที่พบทั่วๆ ไปในพืช และมีคุณสมบัติเป็นสารชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ (anti-senescence)จากการศึกษาโดยนำก้านดอกกล้วยไม้ไปจุ่มในสาร NAE และ putrescine ที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ กันเป็นเวลานาน 4 ชั่วโมง พบว่าการจุ่มก้านดอกกล้วยไม้ในสาร NAE ที่ระดับความเข้มข้น 2.5 µMสามารถชะลอการเสื่อมสภาพของดอก และยืดอายุการปักแจกันได้ดีที่สุด จากการวิเคราะห์การแสดงออกของยีนด้วยเทคนิค RT-PCR ในดอกกล้วยไม้ระยะดอกบานพบว่าสาร NAEมีผลทำให้การแสดงออกของยีน ACO ในดอกกล้วยไม้ลดลง แต่ไม่มีผลไปยับยั้งการแสดงออกของยีน ACS ในทางกลับกันพบว่าการใช้สาร putrescine ไม่มีผลไปชะลอการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้ รวมทั้งไม่มีผลไปยับยั้งการแสดงออกของยีน ACS และ ACO ในดอกกล้วยไม้ระยะดอกบาน จากผลการศึกษาที่ได้ชี้ให้เห็นว่าการชะลอการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้ที่ได้รับสาร NAE น่าจะเกี่ยวข้องกับยับยั้งการแสดงออกของยีน ACO