ผลของสารเคลือบที่มีต่อคุณลักษณะของการเคลือบและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษ
สุวารี ก่อเกษตรวิศว์, ผดุงขวัญ จิตโรภาส และบุญมี ศิริ
กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า
2551
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของสารก่อฟิล์มที่มีต่อคุณลักษณะของสารเคลือบและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษหลังการเคลือบ ทำการทดลองที่อาคารปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ คณะเกษตรศาสตร์ และห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยวิธีการทดลองแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ศึกษาชนิดและสัดส่วนของพอลิเมอร์ซึ่งใช้เป็นสารก่อฟิล์มที่มีผลต่อค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ความหนืด การละลายของฟิล์ม ความสม่ำเสมอของการเคลือบ และความงอกของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการเคลือบ ศึกษาความคงตัวของสารเคลือบในสภาวะเร่ง (Freeze thaw) และศึกษาผลของสารเคลือบที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานชนิดพิเศษ ผลการวิจัยพบว่าการใช้ Hydroxypropyl methylcellulose, Hydroxypropyl methylcellulose ผสมกับ Polyacrylate และ Htdroxypropyl methylcellulose ผสมกับ Vinyl acetate เป็นสารก่อฟิล์ม ทำให้สารเคลือบมีค่า pH ประมาณ 5-7 มีความหนืดประมาณ 300 cps มีความสม่ำเสมอของการเคลือบและไม่มีผลต่อความงอกของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งสารเคลือบทั้ง 3 ตำรับมีความคงตัวดีภายหลังการทดสอบในสภาวะเร่ง และการเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานด้วยสารเคลือบทั้ง 3 ชนิด พบว่าความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะในห้องปฏิบัติการมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้การเคลือบด้วย Hydroxypropyl methylcellulose ร่วมกับ metalaxyl ซึ่งเป็นสารป้องกันเชื้อรา ทำให้ความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะสภาพไร่และความเร็วในการงอกสูงที่สุด จึงสรุปได้ว่าสารก่อฟิล์มมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษหลังการเคลือบ