บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา คุณภาพของเมล็ดพันธุ์และอายุการเก็บรักษาของถั่วฝักยาวไร้ค้างพันธุ์ มข. 40 และพันธุ์หยกเขียว

บุญมี ศิริ, สวรรณรี พลเยี่ยม, ปิยะนุช เทียงดีฤทธิ์ และธิดารัตน์ แก้วคำ

กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า

2551

บทคัดย่อ

การศึกษาระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา คุณภาพของเมล็ดพันธุ์และอายุการเก็บรักษาของถั่วฝักยาวไร้ค้างพันธุ์ มข. 40 และพันธุ์หยกเขียว

                การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระยะการสุกแก่ทางสรีรวิทยา และการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์หลังการเร่งอายุและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวไร้ค้างพันธุ์ มข. 40 และพันธุ์หยกเขียว ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำการทดลองที่ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวไร้ค้างทั้ง 2 พันธุ์ ที่อายุแตกต่างกัน คือ 15, 18, 21, 24 และ 27 วันหลังดอกบาน จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์มาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ และคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวไร้ค้างที่มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงที่สุดมาทดสอบคุณภาพ 2 ลักษณะ คือ การเร่งอายุ โดยใช้อุณหภูมิ 42°Cความชื้นสัมพันธ์ 100%เป็นเวลา 0, 2, 4, 6 และ 8 วัน อีกส่วนหนึ่งเก็บรักษาในสภาพแวดล้อม และไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม ผลการทดลองพบว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวไร้ค้างพันธุ์ มข. 40 และพันธุ์ หยกเขียว มีระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาที่อายุ 24 วันหลังดอกบาน โดยมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงที่สุด 98.67 และ 96.76 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเร่งอายุเมล็ดถั่วฝักยาวไร้ค้างทั้ง 2 พันธุ์นานเกิน 6 วัน จะทำให้มีเปอร์เซ็นต์ความงอกที่เพาะในห้องปฏิบัติการและในสภาพไร่ลดลงต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ในห้องที่ควบคุมและไม่ควบคุมสภาพแวดล้อมตลอดระยะเวลา 5 เดือน พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ความงอกไม่แตกต่างกันทางสถิติ