บทคัดย่องานวิจัย

ศึกษาวิจัยเครื่องอบแห้งสำไยแบบต่อเนื่อง

พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์, พิมล วิฒิสินธ์, ชูศักดิ์ ชวประดิษฐ์ และตัญญู กองช่าง

กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า

2551

บทคัดย่อ

ศึกษาวิจัยเครื่องอบแห้งสำไยแบบต่อเนื่อง

                งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาเครื่องอบแห้งเนื้อลำไย แบบที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และศึกษาเทคโนโลยีแบบใช้อุณหภูมิในการอบแห้ง 2 ช่วง คืออุณหภูมิสูงในช่วงแรก และลดอุณหภูมิลงในช่วงที่สองตามความชื้นที่ลดลงของผลิตภัณฑ์ เครื่องอบแห้งต้นแบบประกอบด้วยห้องอบแห้ง 2 ชุด คือชุดห้องอบแห้งอุณหภูมิขนาด 0.6×1.7×0.9 เมตร และชุดห้องอบแห้งอุณหภูมิต่ำขนาด 0.6×4.8×0.9 เมตร (กว้าง×ยาว×สูง) จากการศึกษาการอบแห้งเนื้อลำไยสดขนาด AA ด้วยเครื่องต้นแบบพบว่า สามารถอบแห้งเนื้อลำไยได้ภายในระยะเวลา 8 ชั่วโมง โดยใช้อุณหภูมิในการอบ 80 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 2 ชั่วโมง และ 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 6 ชั่วโมง ตามลำดับ ได้ผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งพร้อมนำไปบรรจุและจำหน่วยต่อไป อุปกรณ์ให้ความร้อนประกอบด้วยชุดเซรามิคซึ่งเมื่อถูกเผาจะให้พลังงานความร้อนสูงและชุดหัวล่อแก๊ส ใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง ชุดพัดลมเป็นชนิดกรงกระรอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25.4 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ใช้ต้นกำลัง 1 แรงม้า มีปริมาณลมขณะทำงาน 960 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาที เครื่องอบแห้งต้นแบบสามารถบรรจุรถเข็นได้ 5 คัน แต่ละคันมีขนาด 0.45×0.45×0.65 เมตร (กว้าง×ยาว×สูง) สามารถบรรจุถาดวัสดุสำหรับอบแห้ง 4 ถาดต่อคัน รวมทั้งหมด 20 ถาด คิดเป็นพื้นที่การอบแห้งทั้งหมด 5.42 ตารางเมตร สามารถอบแห้งผลลำไยสดได้ 200 กิโลกรัมต่อวัน

                ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของเครื่องอบแห้งลำไยแบบต่อเนื่องต้นแบบ พบว่า มีจุดคุ้มทุนเมื่อทำการผลิตลำไยอบแห้ง 1,732.99 กิโลกรัมต่อปี ให้อัตราผลตอบแทนเงินลงทุน 83.88 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและระยะเวลาคืนทุน 1.2 ปี