บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพของผลมะละกอในพื้นที่จังหวัดชุมพร

กนกพร บุญญะอติชาติ นาตยา มนตรี และเจณรงค์ มะลิพันธ์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 55-58 (2553)

2553

บทคัดย่อ

คุณภาพของผลมะละกอในพื้นที่จังหวัดชุมพร

การศึกษาคุณภาพผลมะละกอ (Carica papaya L.) พันธุ์แขกดำ แขกนวล และเนื้อสีเหลือง ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ที่ระยะการเปลี่ยนสีผิวผล 50 75 และ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง 29±2 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 92±2เปอร์เซ็นต์ พบว่าคุณภาพภายนอกโดยทั่วไปมะละกอทุกพันธุ์มีรูปทรงผลยาว (elongate) มะละกอพันธุ์แขกดำในระยะเริ่มเปลี่ยนสีมีผิวสีเขียวเข้ม ส่วนแขกนวลและเนื้อสีเหลืองมีสีเขียวอ่อน สีผิวผลที่ระยะการเปลี่ยนแปลง 5-25เปอร์เซ็นต์ของทุกพันธุ์อยู่ในกลุ่มสีเขียว (Green 137) มะละกอพันธุ์แขกดำและเนื้อสีเหลืองมีน้ำหนักผลเฉลี่ย 2,100 กรัม และแขกนวลหนัก 1,900 กรัม  มะละกอพันธุ์แขกดำและแขกนวลแสดงอาการจุดด่างวงแหวน (papaya ring spot virus; PRSV) และโรคที่มีเชื้อสาเหตุจากเชื้อราบนผิวผล มะละกอพันธุ์แขกนวลใช้เวลาในการเปลี่ยนสีผิวผลจากระยะ 5เปอร์เซ็นต์ ไปเป็นระยะสีผล 75 และ 100เปอร์เซ็นต์ เร็วกว่าพันธุ์แขกดำและเนื้อสีเหลือง มะละกอทุกพันธุ์มีรูปทรงช่องว่างกลางผลเป็นแบบรูปทรงค่อนข้างเป็นรูปดาว มีเนื้อหนา 3.0 เซนติเมตรและมีค่าของแข็งที่ละลายน้ำได้เฉลี่ย 10%มะละกอพันธุ์แขกดำมีความแน่นเนื้อมากกว่าพันธุ์แขกนวลและพันธุ์เนื้อสีเหลือง มะละกอพันธุ์แขกดำและพันธุ์แขกนวลมีสีเนื้อส้มแดงแต่มะละกอพันธุ์เนื้อสีเหลืองมีสีเนื้อส้มเหลือง คะแนนเฉลี่ยด้านรสชาติ และความชอบอยู่ในช่วงความชอบเล็กน้อย-ปานกลาง