บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสายพันธุ์และระยะการเจริญเติบโตต่อแอนโธไซยานินส์ของผลหม่อน

มนต์วดี หุ่นเจริญ และศศิธร ตรงจิตภักดี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 106-109 (2553)

2553

บทคัดย่อ

ผลของสายพันธุ์และระยะการเจริญเติบโตต่อแอนโธไซยานินส์ของผลหม่อน

งานวิจัยนี้ศึกษาผลของสายพันธุ์และระยะการเจริญเติบโตต่อแอนโธไซยานินส์ของผลหม่อน 3 สายพันธุ์ (สายพันธุ์กำแพงแสน-เอ็มบี-42-1 เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ 60) ซึ่งแต่ละสายพันธุ์แบ่งออกเป็น 4 ระยะการเจริญเติบโต คือ ผลอ่อน (ระยะการเจริญเติบโตที่ 1) ผลกึ่งสุก (ระยะการเจริญเติบโตที่ 2) ผลสุก (ระยะการเจริญเติบโตที่ 3) และผลสุกเต็มที่ (ระยะการเจริญเติบโตที่ 4) โดยศึกษาปริมาณแอนโธไซยานินส์ทั้งหมดด้วยวิธี pH-differential และตรวจสอบแอนโธไซยานินส์ชนิดหลักโดยเทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) จากผลการทดลองพบว่าปริมาณแอนโธไซยานินส์ทั้งหมดของผลหม่อนขึ้นกับสายพันธุ์และระยะการเจริญเติบโต โดยมีปริมาณตั้งแต่ 3 ถึง 1,844 มิลลิกรัมไซยานิดิน-3-กลูโคไซด์ในตัวอย่าง 100กรัมน้ำหนักแห้ง โดยเมื่อผลหม่อนเจริญเติบโตมากขึ้นจะมีปริมาณแอนโธไซยานินส์ทั้งหมดเพิ่มมากขึ้น ผลสุกเต็มที่ของสายพันธุ์กำแพงแสน-เอ็มบี-42-1 มีปริมาณแอนโธไซยานินส์ทั้งหมดมากกว่าบุรีรัมย์ 60 และเชียงใหม่ ตามลำดับ    (p £0.05)เมื่อตรวจสอบโดย HPLC พบว่าแอนโธไซยานินส์ชนิดหลักในผลหม่อนทั้ง 3 สายพันธุ์ คือไซยานิดิน-3-กลูโคไซด์ และไซยานิดิน-3-รูทิโนไซด์ โดยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเมื่อผลหม่อนมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ผลหม่อนสายพันธุ์กำแพงแสน-เอ็มบี-42-1ในระยะสุกเต็มที่มีปริมาณไซยานิดิน-3-กลูโคไซด์มากที่สุด (p £0.05)ในขณะที่สายพันธุ์กำแพงแสน-เอ็มบี-42-1 และบุรีรัมย์ 60 มีปริมาณไซยานิดิน-3-รูทิโนไซด์มากที่สุด (p £0.05)