บทคัดย่องานวิจัย

คุณสมบัติต้านการออกซิเดชันของสารสกัดเปลือกมังคุดและผลกระทบที่มีต่อคุณสมบัติของฟิล์มเคลือบบริโภคได้

พงศธร มันทะ พีรยา โชติถนอม และ บุษกร ทองใบ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 199-202 (2553)

2553

บทคัดย่อ

คุณสมบัติต้านการออกซิเดชันของสารสกัดเปลือกมังคุดและผลกระทบที่มีต่อคุณสมบัติของฟิล์มเคลือบบริโภคได้

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณสมบัติของสารสกัดเปลือกมังคุดที่ผ่านการทำแห้งแบบระเหิด ในการเป็นสารต้านออกซิเดชันและศึกษาคุณสมบัติของแผ่นฟิล์มบริโภคได้จาก Sodium caseinate (NaCas) และ Carboxy methyl cellulose (CMC) และผลกระทบของสารสกัดเปลือกมังคุดที่มีต่อคุณสมบัติของแผ่นฟิล์ม ในขั้นตอนต่อไปจะศึกษาการประยุกต์ใช้ฟิล์มที่ผลิตได้กับผลผลิตสดทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อปลา ผลการทดลองพบว่าสารสกัดมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและแอนโธไซยานินส์เท่ากับ 2,430.7 และ 484.26 mg/100g ตามลำดับ เมื่อทดสอบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH พบว่ามีค่าการยับยั้งอนุมูลอิสระที่คิดเป็นค่า 50% inhibitory concentration (IC50) เท่ากับ  599.6 ppm ฟิล์ม CMC มีคุณสมบัติการยืดตัว ความหนาและป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำสูงกว่าฟิล์ม NaCas ขณะที่มีค่าการต้านแรงดึงและประสิทธิภาพการซึมผ่านออกซิเจนต่ำกว่า แต่มีค่าการต้านไขมันและน้ำมันไม่แตกต่างกัน (p>0.05) อย่างไรก็ตามคุณสมบัติดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการเติมสารสกัดเปลือกมังคุด ในการประยุกต์ใช้ฟิล์มเคลือบบริโภคได้ที่มีสารสกัดเปลือกมังคุดเพื่อยืดอายุผลผลิตสดเป็นเรื่องที่น่าสนใจซึ่งต้องเลือกใช้ฟิล์มที่มีคุณสมบัติที่เหมาะ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาในขั้นตอนต่อไป