แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อการออกแบบระบบการบรรจุแบบบรรยากาศดัดแปรเชิงแอคทีฟสำหรับผักและผลไม้สด
วีรเวทย์ อุทโธ A.John Mawson และ John E Bronlund
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 203-206 (2553)
2553
บทคัดย่อ
แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้พัฒนา เพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบบรรยากาศดัดแปร เชิงแอคทีฟ ที่ควบคุมการปล่อยสารระเหย เช่น เอทานอล เฮกซาแนล และ 1-MCP เพื่อการบรรจุและขนส่งผักและผลไม้สด การศึกษานี้ได้เลือกเฮกซาแนลมาเป็นตัวอย่าง การทดลองปล่อยเฮกซาแนลในบรรจุภัณฑ์ได้ศึกษาในถุง LDPEที่บรรจุมะเขือเทศสด และซองขนาดเล็กซึ่งบรรจุซิลิกาเจลที่อิ่มตัวด้วยเฮกซาแนล โดยซองทำมาจากฟิล์ม 3 ชนิด คือ LDPE, OPPและ Tyvek®ซึ่งได้ดำเนินการทดลองที่อุณหภูมิ 20ºCเป็นเวลา 7 วัน การปล่อยเฮกซาแนลจากซองประเภทต่างๆ มายังบรรยากาศมีรูปแบบคล้ายกัน คือ ความเข้มข้นในช่วงแรกจะเพิ่มขึ้นและถึงจุดสูงสุดภายใน 3-5 ชั่วโมง และลดลงมาถึงระดับคงที่ แต่ระดับสูงสุดนั้นจะแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับ hexanal vapour permeability ของฟิล์ม ซึ่งลดลงจากTyvek®, LDPEและ OPPตามลำดับ ส่วนความเข้มข้นคงที่จะอยู่ในระดับต่ำสุด (MIC; 40-70 µL·L-1) ที่ควบคุมการเติบโต Botrytis cinereaได้ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามารถทำนายระดับความเข้มข้นคงที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ MICที่สะสมในถุง มีผลเล็กน้อยต่อการดูดซับเฮกซาแนล และ คุณภาพด้านอื่นๆของมะเขือเทศ ผลการทำนายที่คลาดเคลื่อนพบมากในช่วงแรกของการปล่อยสาร ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนของข้อมูลประกอบการทำนาย โดยเฉพาะสัมประสิทธิ์ของ hexanal-silica gel sorption isotherm และ permeabilityจึงสรุปได้ว่าแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มีศักยภาพที่จะประยุกต์เพื่อการออกแบบ สำหรับผักผลไม้และอาหารชนิดอื่นๆ เนื่องจากความถูกต้องในการทำนาย อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงความสามารถการทำนายช่วงแรกของการปล่อยสารอยู่