การเข้าทำลายใบและผลองุ่นทานสดของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสที่ตัดแต่งทรงพุ่ม 2 แบบ
สมศิริ แสงโชติ และ รัตติรส เชียงสิน
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 279-282 (2553)
2553
บทคัดย่อ
การประเมินโรคแอนแทรคโนสที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides บนใบและผลองุ่นที่ตัดแต่งทรงพุ่ม 2 ลักษณะ ที่สถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงฤดูปลูกแรกตั้งแต่เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงเดือน มกราคม พ.ศ. 2552 และในช่วงฤดูปลูกที่สองตั้งแต่เดือน มีนาคม พ.ศ. 2552 ถึงเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2552 พบว่า ในฤดูปลูกแรกองุ่นพันธุ์Loose perlette ที่มีระบบการจัดการทรงพุ่มแบบ Lincon system มีดัชนีการเกิดโรคสูงที่สุดเท่ากับ 28.3 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ พันธุ์Loose perlette ที่มีระบบการจัดการทรงพุ่มแบบ Double/Triple Cordon system และ พันธุ์ Marroo seedless ที่มีระบบการจัดการทรงพุ่มแบบ Lincon system มีดัชนีการเกิดโรคเท่ากับ 26.2 เปอร์เซ็นต์ และ พันธุ์ Marroo seedless ที่มีระบบการจัดการทรงพุ่มแบบ Double/Triple Cordon system มีดัชนีการเกิดโรคต่ำที่สุดเท่ากับ 25.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเกิดโรคบนใบขององุ่นในช่วงฤดูปลูกที่สองมีดัชนีการเกิดโรคแอนแทรคโนสบนใบสูงกว่าในฤดูปลูกช่วงแรก พบว่า องุ่นพันธุ์Loose perlette ที่มีระบบการจัดการทรงพุ่มแบบ Lincon system มีดัชนีการเกิดโรคสูงที่สุดเท่ากับ 30.4 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ในแต่ละกรรมวิธีทดลองไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ไม่พบอาการของโรคแอนแทรคโนสบนผลองุ่นทั้งสองพันธุ์ ในระยะก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว