การลดการเจริญแบบแฝงและโรคแอนแทรคโนสเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
ปริญญา จันทรศรี วิชชา สอาดสุด อุราภรณ์ สอาดสุด และ รัฐพล พรประสิทธิ์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 307-310 (2553)
2553
บทคัดย่อ
จากการตรวจสอบการเจริญแบบแฝงของเชื้อก่อโรคแอนแทรคโนสที่เกิดจากเชื้อราColletotrichum gloeosporioidesและการควบคุมโรค ในสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอายุต้น 4 -5 ปี ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึง เดือนเมษายน 2552 โดยมีการประเมินผลของการเกิดโรคหลังเก็บเกี่ยว จากผลที่เก็บจากสวนที่มีการใช้สารเคมีคอปเปอร์อ๊อกซีคลอไรด์ แมนโคเซ็บ คาร์เบนดาซิม อะซ๊อกซี่สโตรบิน และโปรคลอราซ ฉีดพ่นในระยะก่อนเก็บเกี่ยวทุก 2 สัปดาห์ จำนวน 8 ครั้ง ตั้งแต่ระยะหลังตัดแต่งกิ่งจนกระทั่งก่อนห่อผล โดยเก็บเกี่ยวผลมะม่วงอายุ 110 วันหลังดอกบานและนำมาบ่มไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 14วัน พบว่าการเกิดโรคลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผลมะม่วงที่เก็บมาจากแปลงข้างเคียงที่มีการพ่นเฉพาะสารอะซ๊อกซีสโตรบินและแมนโคเซ็บ ผลจากการใช้สารพาราควอทกระตุ้นการเจริญของเชื้อในห้องปฏิบัติการพบว่าการจัดการในระยะก่อนเก็บเกี่ยวให้ผลในการลดจำนวนเชื้อก่อโรคแอนแทรคโนสอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เก็บจากสวนที่ใช้เป็นกรรมวิธีควบคุม การจุ่มผลมะม่วงลงในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 55 °C 5 นาที และจุ่มในสารละลายโปรคลอราซ ให้ผลการควบคุมโรคในระดับเดียวกับการจุ่มในสารละลายโปรคลอราซร้อน 55 °C แต่เมื่อบ่มผลไว้นานขึ้น พบว่าโปรคลอราซให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีกว่าผลที่ผ่านการจุ่มน้ำร้อนอย่างเดียว