ผลของการจัดการสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในระยะก่อนเก็บเกี่ยวที่มีต่อการเกิดโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงหลังเก็บเกี่ยว
รัฐพล พรประสิทธิ์ วิชชา สอาดสุด และ ปริญญา จันทรศรี
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 325-328 (2553)
2553
บทคัดย่อ
การจัดการทั่วไปในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงประกอบด้วยการทำความสะอาดภายในสวน การใช้สารเคมีในระยะก่อนเก็บเกี่ยว และกรรมวิธีหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การจุ่มในน้ำร้อน และโปรคลอราซ ระหว่างปี 2551 ถึง 2552ในช่วงฤดูกาลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรากลุ่มสารประกอบทองแดง แมนโคเซ็บ คาร์เบนดาซิมและโปรคลอราซ เข้ามาเพิ่มเติมจากการใช้สารอะซ๊อกซีสโตรบินที่มีการใช้เป็นประจำในพื้นที่ ประเมินผลที่ได้จากการพ่นสารเคมีในระยะก่อนเก็บเกี่ยวร่วมกับการใช้กรรมวิธีหลังการเก็บเกี่ยวกับผลผลิตมะม่วงจากสวนที่ทำการทดลองดังกล่าว วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราแต่ละชนิดและการวางแผนระยะเวลาการฉีดพ่นสารเคมีในระยะก่อนเก็บเกี่ยวและการจุ่มในน้ำร้อนของมะม่วงหลังเก็บเกี่ยวว่า มีผลต่อการเน่าเสียของมะม่วงที่เกิดจากโรคแอนแทรคโนสในเชิงพาณิชย์ พบว่าช่วงเวลาการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรามีผลต่อประสิทธิภาพของการวางระบบจัดการ และยังพบว่าปัจจัยอื่น เช่น สภาวะความรุนแรงของโรค สภาพภูมิอากาศ และวิธีการฉีดพ่นสารเคมี ในพื้นที่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า การวางโปรแกรมฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาพัฒนาการของผล มีความสำคัญต่อการลดการเน่าเสียที่เกิดจากโรคแอนแทรคโนสของผลมะม่วงได้เทียบเท่ากับการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวเช่นเดียวกัน